ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเล็กน้อย จากสถานการณ์ในอิรักที่ยังคงตึงเครียด

ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นเล็กน้อย จากสถานการณ์ในอิรักที่ยังคงตึงเครียด ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบฝั่งสหรัฐฯ มีแนวโน้มสูงขึ้น

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยยังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางระหว่างอิรักและชาวเคิร์ดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังจากที่กองกำลังทหารอิรักเข้ายึดเมือง Kirkuk คืนจากชาวเคิร์ด หลังได้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักเมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการปิดบ่อน้ำมันดิบ Bai Hassan และ Avana เป็นการชั่วคราว

+ นอกจากนี้ การปฏิเสธที่จะลงนามรับรองว่ารัฐบาลอิหร่านปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่า อิหร่านไม่ได้ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ และการละเมิดข้อตกลงหลายครั้ง ยังคงสร้างความกังวลต่อตลาดในเรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่าน ที่อาจจะหายไปจากตลาด

+ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตจากทางผู้ผลิตในกลุ่มและนอกกลุ่มโอเปกที่ตกลงกันว่าจะปรับลดราว 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยทำตามข้อตกลงประมาณ 86 เปอร์เซ็นต์

– อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงกังวลกับปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากทางฝั่งสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและจะส่งออกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบในตลาดอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในภูมิภาคยังอยู่ในระดับดี โดยเฉพาะจากทางอินโดนิเซีย ตะวันออกกลาง อินเดีย และศรีลังกา ประกอบกับการส่งออกที่น้ำมันเบนซินที่ปรับลดลง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากการส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังทวีปยุโรปที่ปรับลดลง ประกอบกับแรงซื้อที่ยังคงเบาบางเนื่องจากความต้องการใช้อ่อนตัวลง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 48 – 53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 55 – 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกคาดจะปรับลดลงต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตต่อเนื่อง โดยล่าสุดกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกอยู่ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตว่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมโดยการขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน มี.ค. 61 หรือมีการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจากเดิมที่ได้ตกลงกันไว้ว่าจะปรับลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือไม่ โดยในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมาผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือขึ้นมาจาก 85% มาอยู่ที่ 94% ในขณะที่ผู้ผลิตนอกกลุ่มโอเปกปรับเพิ่มความร่วมมือมาสู่ระดับ 119% ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 100% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการปรับลดกำลังการผลิตมา

จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดในอิรักว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ หลังรัฐบาลท้องถิ่นในภูมิภาคเคอร์ดิสถาน (KRG) เขตกึ่งปกครองตนเองทางเหนือของอิรัก ลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชจากอิรักในวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา ประเด็นดังกล่าวสร้างความกังวลใหกับหลายประเทศว่าปัญหาดังกล่าวจะอาจจะเป็นภัยคุกคามในภูมิภาคตะวันออกกลางได้ ส่งผลให้หลายประเทศ อาทิเช่น ตุรกีขู่จะปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบ กำลังการขนส่ง 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ลำเลียงน้ำมันดิบจากทางตอนเหนือของอิรักที่ถูกควบคุมโดย KRG ไปยังท่าเรือ Ceyhan ของตุรกี ซึ่งอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวมากขึ้น