เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย จับตาปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามสัปดาห์หน้า

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ขณะที่หุ้นไทยกลับมายืนเหนือ 1,400 จุดได้อีกครั้ง จับตาสัปดาห์หน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเด็นทางการเมืองของไทย สถานการณ์โควิด-19 Brexit และการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อย แต่การเคลื่อนไหวในภาพรวมยังเป็นกรอบแคบๆ ตลอดสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามปัจจัยและสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ รวมถึงสัญญาณการเข้าดูแลค่าเงินบาทของทางการ

นอกจากนี้กระแสเงินทุนไหลเข้าของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตรไทยมีสัญญาณชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงหลายสัปดาห์ก่อน

อย่างไรก็ดีเงินบาทเริ่มทยอยแข็งค่ากลับมาในช่วงกลาง-ปลายสัปดาห์ตามทิศทางของสกุลเงินในภูมิภาครับข่าวดีเรื่องการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายหลังข้อมูลจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด

ในวันศุกร์ (27 พ.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.29 เทียบกับระดับ 30.32 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (20 พ.ย.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 พ.ย.-4 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.00-30.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามน่าจะอยู่ที่ถ้อยแถลงของประธานเฟด การตอบรับของตลาดต่อทีมเศรษฐกิจใหม่ของนายโจ ไบเดนว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สถานการณ์โควิด-19 โลก และข้อมูล PMI เดือนพ.ย. ของจีนและยูโรโซน

ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนต.ค. อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. กระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และปัจจัยทางการเมืองของไทย ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนี PMI และดัชนี ISM ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนพ.ย. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนต.ค. และรายงาน Beige Book ของเฟด

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยกลับมาปิดเหนือ 1,400 จุด โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,437.78 จุด เพิ่มขึ้น 3.49% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 96,545.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.19% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.16% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 327.93 จุด

หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงต้นสัปดาห์ตามแรงซื้อต่อเนื่องของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ขานรับความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ก่อนจะปรับตัวลงในเวลาต่อมาท่ามกลางความกังวลต่อประเด็นทางการเมืองในประเทศ

อย่างไรก็ดี ดัชนีหุ้นไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของตลาดหุ้นในภูมิภาค หลังมีสัญญาณว่ากระบวนการถ่ายโอนอำนาจระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนเก่าและคนใหม่ได้เริ่มขึ้นแล้ว และมีข่าวดีเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการทดลองวัคซีนต้านโควิด-19 ตัวที่ 3 ในช่วงกลางสัปดาห์

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (30 พ.ย.-4 ธ.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,430 และ 1,415 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,455 และ 1,470 จุดตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและประเด็นทางการเมืองของไทย ตลอดจนสถานการณ์โควิด-19 ประเด็น Brexit และการประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนพ.ย. ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตและบริการเดือนพ.ย.ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน และอัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย. ของไทย