ปลดหนี้ FIDF 7 แสนล้านใน 10 ปี ลดเงินนำส่ง-ปี’64 ชำระแค่ 2.4 พันล้าน

เงินบาท

คลังเผย ครม.ไฟเขียวชำระหนี้ FIDF ปี’64 วงเงิน 2,400 ล้านบาท คาดใช้เวลาอีก 10 ปี “ปลดแอก” ได้หมด หลัง ธปท.มีมาตรการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเหลือ 0.23% ช่วงโควิด ขณะที่ยอดหนี้ FIDF คงค้างล่าสุด ณ สิ้น มิ.ย. 63 เหลือกว่า 7 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปีงบประมาณ 2564 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะมีการโอนเงินเข้าบัญชีสะสม จำนวน 2,400 ล้านบาท เพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ยที่กระทรวงการคลังกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ พ.ศ. 2541 (FIDF1)

และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF3) ซึ่งทางกระทรวงการคลังได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแล้ว

โดยในปีงบประมาณ 2563 ที่ผ่านมา กองทุน FIDF ได้นำส่งเงินเข้าบัญชีสะสมเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้และดอกเบี้ย FIDF1 และ FIDF3 รวมทั้งสิ้น 41,278 ล้านบาท แบ่งเป็นการนำส่งเงินประจำปีงบประมาณ 6,700 ล้านบาท ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2562 และเงินนำส่งเพิ่มเติม 34,578 ล้านบาท ซึ่งได้รับจากการขายหุ้นบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM จำนวน 21,578 ล้านบาท และได้รับจากเงินปันผลพิเศษก่อนการขายหุ้นดังกล่าว จำนวน 13,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ เงินนำส่ง 41,278 ล้านบาทดังกล่าว ได้นำไปชำระต้นเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3 จำนวน 36,178 ล้านบาท และดอกเบี้ย จำนวน 5,100 ล้านบาท

แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่ FIDF เหลือเงินโอนเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ได้น้อยลง เนื่องจากปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการลดเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF ที่เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ลง 0.23% จากเดิม 0.46% จากผลกระทบโควิด-19 ขณะที่ยอดหนี้ต้นเงินกู้ FIDF1 และ FIDF3 คงค้าง ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2563 มีทั้งสิ้น 748,838.21 ล้านบาท ลดลงจากเดือน ม.ค. 2555 จำนวน 389,467.68 ล้านบาท

“กองทุนได้ทบทวนประมาณการกระแสเงินรับ-จ่ายแล้ว คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 จะมีสภาพคล่องคงเหลือ ภายหลังสำรองค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่สามารถชำระหนี้ FIDF1 และ FIDF3 ได้ 2,400 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยโอนเงินของกองทุนเข้าบัญชีสะสม ตามปริมาณสภาพคล่องของกองทุน เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวมีความเหมาะสมกับกระแสเงินสดรับ-จ่าย และจะทำให้กองทุนมีเงินสดคงเหลือเพื่อสำรองเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการ และภาระชดเชยที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 3,420 ล้านบาท” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ปัจจุบัน FIDF เหลือหนี้คงค้างที่จะต้องชำระอยู่กว่า 700,000 ล้านบาท คาดว่าภายใน 10 ปี จะสามารถชำระหนี้ได้ครบ ซึ่งแผนการชำระหนี้ของ FIDF นั้น โดยทั่วไปพิจารณาจากรายได้ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเดิมเก็บที่อัตรา 0.46%

แต่ในปีนี้ ธปท.ได้ลดเงินนำส่งเหลือ 0.23% ดังนั้น ถ้าในปีนี้ชำระไม่ครบ ส่วนที่เหลือก็จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์)

“แผนการจ่ายหนี้ FIDF จะพิจารณาจากดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นจริง โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยเต็มจำนวน ส่วนเงินต้นก็พิจารณาจากเงินนำส่งเข้ากองทุน ซึ่งเมื่อ ธปท.ลดเงินนำส่งลงครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือถ้าชำระไม่ครบก็รีไฟแนนซ์ต่อไป ซึ่งยอมรับว่าในปีนี้ก็ต้องมีการยืดเวลาการชำระ (roll over) ออกไป เป็นกระบวนการปกติ” นางแพตริเซียกล่าว