“กสิกร”​ กาง 4​ โจทย์ แก้ปัญหา​ฝ่าวิกฤต ​เศรษฐกิจฟื้นช้า​

ธนาคารกสิกรไทย มองจีดีพีไทยผงกดีขึ้น แต่ยังใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 ปี เผยพบตัวเลขลูกหนี้กลับมาชำระหนี้ปกติถึง 70% มองเศรษฐกิจรูปแบบใหม่มาแน่ ส่อง 4 เทรนด์หลังโควิด

วันที่ 2 ธันวาคม 2563 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK กล่าวในงานสัมมนาประชาชาติ “THAILAND 2021 New Game New Normal” ในหัวข้อพิเศษ “New World New Economy” ว่า สิ่งที่ธนาคารเห็นในภาวะวิกฤตคือพอมันมาแล้วเดี่ยวมันก็จะผ่านไป และเมื่อเราผ่านมันไปได้เราก็จะเก่งขึ้นและแกร่งขึ้น โดยโจทย์สำคัญ คือ เราเรียนรู้จากวิกฤตนี้อย่างไรบ้าง

ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยดีกว่าที่คิด เดิมในช่วงไตรมาส 2/63 คาดการณ์ไว้ว่าจีดีพีสิ้นปี 2563 จะติดลบ 10% แต่ปัจจุบันปรับประมาณการใหม่เหลือติดลบ 7% และมาตรการช่วยเหลือผู้บริโภคและธุรกิจ SMEs ผ่านมาตรการพักหนี้ (Debt Holiday) ซึ่งไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ซึ่งพึ่งหมดลงไปเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา พบว่า สถิติลูกหนี้ของธนาคารกสิกรไทยที่เข้าร่วมมาตรการกลับมาผ่อนชำระได้ตามปกติมากกว่า 70% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตามยังคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาสู่สภาวะเศรษฐกิจแบบเดิมได้ต้องใช้เวลา 2-3 ปีด้วยกัน ซึ่งยังคงมีความยาก

“ตอนนี้เรามีความแข็งแกร่ง มีสภาพคล่องเพียงพอ โดยเรายังคงให้ความช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่อง โดยแบ่งลูกค้าเป็นสีเขียว เหลือง แดง โดยสีแดง แม้จะไม่มีโควิดก็ไปไม่ไหว เราก็พร้อมจะคุยกับลูกค้า สีเหลือง เราพร้อมจะปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกค้า เสริมสภาพคล่อง หรือให้คำปรึกษาธุรกิจ และสีเขียว เราพร้อมจะพาลูกค้าออกไปหาตลาดใหม่ๆ และจับคู่ธุรกิจ”

ทั้งนี้ รายได้ภาคการท่องเที่ยว คิดเป็น 12% ของจีดีพี จะเห็นว่านับตั้งแต่ปี 2557 ภาคท่องเที่ยวเป็นพระเอกและค้ำจุนจีดีพีของประเทศให้เติบโตมาโดยตลอด แต่พอเจอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับหดตัวลงหนัก และภายหลังมีมาตรการไทยเที่ยวไทยรายได้ท่องเที่ยวเริ่มผงกขึ้น และมองว่าหากมีมาตรการต่อเนื่องเพิ่มเติมน่าจะหนุนให้รายได้จากภาคท่องเที่ยวให้ผงกหัวสูงขึ้นไปอีก

ขณะที่การส่งออกภายใต้เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งเป็นความท้าทายในเรื่องของค่าเงินบาทแข็ง และการพัฒนาการของวัคซีน รวมถึงดีมานด์ของตลาดยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ทำให้ธุรกิจรายใหญ่หันลงมาเล่นตลาดกลาง และตลาดกลางลงมาแข่งในตลาดเล็ก ซึ่งจะกระทบต่อธุรกิจเอสเอ็มอีให้มีความยากลำบากมากขึ้น

ดังนั้น เศรษฐกิจรูปแบบใหม่จะเกิดขึ้นและมาแน่นอน โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่ง โดยโจทย์แรก คือ เราจะต้องอยู่รอดให้ได้ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของ 4 เทรนด์ ได้แก่

1.โครงสร้างประชากรผู้สูงวัย และ GEN ME

2.การเปลี่ยนแปลงของ Landscape ของสงครามการค้าโลกและสงครามเทคโนโลยี แม้ว่าโจ ไบเดนจะมาแต่จะเห็นการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน-การย้ายฐานการผลิตไปสู่ที่ใหม่ๆ ดังนั้น ไทยจะต้องเกาะซัพพลายให้ได้

3.การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จะเห็นพฤติกรรมผู้บริโภคและคู่ค้าที่เปลี่ยนไป จึงจะต้องตามเทรนด์ให้ทัน

4.การเติบโตอย่างยั่งยืน หากเป็นธุรกิจธนาคารจำเป็นต้องมี Banking License เพื่อไว้ทำธุรกิจฝากเงินและปล่อยสินเชื่อ แต่ธนาคารจะต้องมี Social License ด้วย เนื่องจากปัจจุบันนักลงทุน-ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ธนาคารจึงต้องได้รับความไว้วางใจจากสังคมด้วย เนื่องจากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า คนสนใจเรื่องกรีนมีประมาณ 74% ที่พร้อมจะจ่ายในราคาที่แพงกว่าหากสินค้านั้นรักษาสิ่งแวดล้อม

“เบื้องต้นภายใต้วิกฤตเรามีโจทย์ คือ เราต้องดูแลตัวเองให้รอดก่อน และภาครัฐและธนาคารจะเข้าไปช่วยเหลือได้ ซึ่งหากเรารอด สังคมก็รอด เพราะหากเราต้องการไปเร็ว เราไปคนเดียว แต่หากเราต้องการไปเร็วๆ ไกลๆ ไปได้นานๆ เราจะต้องไปพร้อมกับคนอื่น ไปเป็นแบบ Ecosystem”