เตือนต้นปี’64 บาทแข็งโป๊กทะลุ 29 บาท ลุ้น ธปท.เพิ่มดีกรีพยุงค่าเงิน

แบงก์ชาติ-BOT-เงินบาท

เตือนรับมือต้นปี’64 “บาทแข็ง” เร็ว ทะลุ 29 บาท/ดอลลาร์ จับตาฟันด์โฟลว์ไหลเข้าภูมิภาคเอเชียต่อเนื่อง “บล.ไทยพาณิชย์” ชี้ 2 เดือนแรกเงินทุนทะลักเข้าไทยอีกระลอก “กรุงศรีฯ” ประเมิน ธปท.ไม่ใช้ยาแรงดูแลค่าเงินบาท-เน้นระยะสั้น “เฉพาะจุด” “กสิกรไทย” เก็งแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายไตรมาสแรกปีหน้า 0.25% หนุนเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า-เสี่ยงอ่อนแอลง ด้าน “กรุงไทย” มองต่าง เชื่อตรึง ดอกเบี้ยยาวถึงปี’66

ฟันด์โฟลว์ทะลัก บาทแข็งต่อ

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส Chief Investment Office บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS CIO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทน่าจะยังแข็งค่าค่อนข้างมากในช่วงต้นปี 2564 โดยเฉพาะช่วง 1-2 เดือนแรก ซึ่งอาจจะแข็งค่าไปถึงระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากทิศทางเงินไหลเข้าภูมิภาค (ฟันด์โฟลว์) ยังมีต่อเนื่อง และเพิ่งจะเริ่มไหลเข้ามา

ดังนั้นในช่วงต้นปีจึงยังน่าจะมีโฟลว์ไหลเข้ามาอีก เพราะนักลงทุนต่างชาติจะปรับพอร์ตโยกย้ายเงินมาลงทุนในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้นำเข้า-ส่งออกก็จะมีการนำเงินดอลลาร์มาขายเพื่อเก็บสภาพคล่องเตรียมไว้ทำธุรกิจด้วย ขณะที่คาดว่าสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 30-30.2 บาทต่อดอลลาร์

“ตอนนี้โฟลว์เข้ามาเพิ่งเริ่ม มีโอกาสเข้ามาอีกช่วง 1-2 เดือนแรก ก็ขึ้นอยู่กับ ธปท. ถ้าไม่ได้มีนโยบายอะไรดูแลเป็นพิเศษ ค่าเงินบาทก็น่าจะแข็งค่อนข้างเร็ว แต่ถ้ามีการตอบโต้ก็น่าจะชะลอได้ และตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป ค่าเงินบาทน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 29-30 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากยังรอความชัดเจนเรื่องวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากปีนี้ราว 3-4% ก็เป็นระดับที่ยอมรับได้” ดร.จิติพลกล่าว

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี กล่าวว่า เนื่องจากแนวโน้มเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าในปีหน้า และตลาดอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (risk on) ดังนั้น ค่าเงินบาทก็น่าจะมีทิศทางแข็งค่า

Q4 ปี’63 บาทแข็งพรวด 4.1%

ด้านนายตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านโกลบอลมาร์เก็ต ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าค่าเงินบาทปรับทิศทางจากสถานการณ์โควิด-19 ช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 ที่อ่อนค่า 8.63% ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียอ่อนค่า 14.98% และไตรมาส 4 ค่าเงินบาทกลับพลิกมามีแนวโน้มแข็งค่า แต่ไม่ได้แข็งค่าที่สุด เนื่องจากค่าเงินอินโดนีเซียแข็งค่าไปราว 4.91% ส่วนเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 4.1% อย่างไรก็ดี ในเดือน พ.ย.เงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว เนื่องจากนักลงทุนปรับพอร์ตรอการลงทุนรอบใหม่ หลังมีข่าวดีความชัดเจนเรื่องการเลือกตั้งสหรัฐ และพัฒนาการวัคซีน แต่ภาพรวม 11 เดือนแรกของปีนี้ เงินบาทยังอ่อนค่า 1%

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2564 มองว่ายังอยู่ในทิศทางแข็งค่าอยู่ที่ 29.25 บาทต่อดอลลาร์ จากกรอบคาดการณ์อยู่ที่ 29.00-30.25 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งปัจจัยชี้นำค่าเงินจะมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า และนโยบายการเงินของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะที่ปัจจัยในประเทศจะมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดราว 1.88 หมื่นล้านดอลลาร์ แม้ว่าจะเกินดุลเล็กน้อย แต่เทียบเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ อยู่ที่ราว 3.1 แสนล้านบาท เทียบกับการเกินดุล 2 หมื่นล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินทุนไหลเข้าสูงถึง 6 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

ประเมิน ธปท.ไม่ใช้ยาแรง

นายตรรกกล่าวว่า การดูแลค่าเงินบาทของ ธปท.ในระยะต่อไป น่าจะเป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาท มากกว่ามาตรการยาแรง เนื่องจากปัจจัยหลักของการแข็งค่ามาจากดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ประกอบกับมาตรการที่ ธปท.ออกมาก็กำลังดำเนินอยู่ ธนาคารจึงประเมินว่าภายในสิ้นปีนี้ เงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้น แต่คงไม่แข็งขึ้นจนทะลุ 30 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนปี 2564 ค่าเงินบาทน่าจะแข็งค่าแตะระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ แต่คงไม่ผ่านจุดระดับต่ำกว่า 29 บาทต่อดอลลาร์

“ตอนนี้เรายังรอดูมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท.ที่จะออกมา ทั้งมาตรการที่จะดูแลตลาดตราสารหนี้ที่อาจจะออกเป็นมาตรการระยะสั้น หรือการผลักดันเงินไปลงทุนต่างประเทศ เพราะตอนนี้เงินขาออกไม่บาลานซ์เงินขาเข้า แต่ไม่คิดว่า ธปท.จะออกมาตรการมาดูแลสกัดการไหลเข้ามาของเงินทุนต่างชาติ เพราะภาพการเก็งกำไรค่าเงินมองไม่ชัดเจน และการเคลื่อนไหวของเงินบาทยังสอดคล้องกับสกุลในภูมิภาค บาทไม่ได้แข็งค่ามากสุดในภูมิภาค” นายตรรกกล่าว

สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่า ธปท.จะตรึงดอกเบี้ยตลอดทั้งปี 2564 อยู่ในระดับ 0.50% ต่อปี เนื่องจาก ธปท.ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัวเปราะบางและไม่ทั่วถึง จึงมุ่งเน้นมาตรการแก้ไขและตรงจุด โดยการสนับสนุนการกระจายสภาพคล่องให้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้อัตราดอกเบี้ย

กสิกรฯเก็ง ธปท.ลด ดบ.ฟื้น ศก.

ขณะที่นางสาววรันธร ภู่ทอง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุนอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธนาคารกสิกรไทยมองภาพเศรษฐกิจไทยปี 2564 มีความเสี่ยงที่จะอ่อนแอลง จาก 3 ปัจจัย ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังทรุดหนัก, มาตรการพักชำระหนี้ที่หมดอายุ จะส่งผลให้ภาคธุรกิจขาดปัจจัยสนับสนุนสภาพคล่อง และความเชื่อมั่นธุรกิจยังต่ำจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก และการเมืองในไทยยังกดดันความเชื่อมั่นต่อการลงทุน ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้ ธปท.มีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% มาอยู่ที่ 0.25% ในไตรมาสแรก

อย่างไรก็ดี การลดดอกเบี้ยคงไม่ได้ช่วยลดแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทมากนัก แต่น่าจะคำนึงถึงปัจจัยด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

นางสาววรันธรกล่าวอีกว่า แม้ว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ย แต่เงินทุนไหลเข้าจะยังหนุนเงินบาทแข็งค่า เนื่องจาก 3 ปัจจัย คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย และความเชื่อมั่นของนักลงทุนหลังชัยชนะของนายโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ, อัตราดอกเบี้ยไทยสูงกว่าประเทศเศรษฐกิจหลัก และการดึงเงินกลับมาไทยจากความต้องการเสริมสภาพคล่องธุรกิจ

KTB เชื่อตรึงดอกเบี้ยถึงปี’66

นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารประเมินว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะคงอยู่ในระดับต่ำที่ 0.50% จนถึงปี 2566 หรือจนกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะกลับมาเท่ากับปี 2562 ซึ่งจะเป็นจุดที่ ธปท.จะพิจารณาทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้ เพื่อเป็นการทยอยเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็นหากมีสถานการณ์ไม่แน่นอนเกิดขึ้นอีก เนื่องจากเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในจุดต่ำสุดแล้ว

อย่างไรก็ตาม โอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็มี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย 0.50% ยังถือว่าไม่ได้ต่ำที่สุดในโลก ยังมีช่องที่จะลดดอกเบี้ยได้ แต่การปรับลดจะพิจารณามาจาก 2 ปัจจัย คือ 1.การระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนเกิดการชัตดาวน์ประเทศอีกครั้ง

และ 2.เงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งมีนักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินว่า ค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าไปถึง 10% ส่งผลต่อค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่า จนทำให้เป็นสาเหตุการลดดอกเบี้ยลง

โดยมองว่าทิศทางค่าเงินบาทยังคงเห็นการแข็งค่า ซึ่งในปีนี้ให้กรอบอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ และปี 2564 เดิมกรอบเฉลี่ย 30 บาทต่อดอลลาร์ แต่มีความเสี่ยงที่จะต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยพื้นฐาน และผลจากเงินดอลลาร์ที่คาดว่าอ่อนค่ากว่า 10% แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลน้อยลงจากเฉลี่ยอยู่ที่ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงเหลือ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ เพราะรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป และต่างชาติเทขายหุ้นและพันธบัตร แต่จากดอลลาร์อ่อนค่า และไทยเป็นหลุมหลบภัย (safe haven) ทำให้เทรนด์ค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อไป