ดอลลาร์อ่อนค่า คาดสหรัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

เงินดอลลาร์

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ขณะที่ตลาดคาดสหรัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 2 ธันวาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/12) ที่ระดับ 30.23/25 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (1/12) ที่ระดับ 30.24/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตามเมื่อคืนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงท่ามกลางความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และรายงานความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ จะหารือกันเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนมีความหวังว่า สภาคองเกรสจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในไม่ช้านี้ ตามข้อเสนอของวุฒิสภาเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ (1/12) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 57.5 ในเดือนพฤศจิกายน จากระดับ 59.3 ในเดือนตุลาคม ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.0

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือนตุลาคม หลังจากลดลง 0.5% ในเดือนกันยายน ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนตุลาคม

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.22-30.24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.25/26 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/12) ที่ระดับ 1.2068/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวแข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (1/12) ที่ระดับ 1.1974/77 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรแข็งค่าจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ จากรายงานที่ว่า ไฟเซอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) เพื่อขออนุมัติการจำหน่ายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของทางบริษัทเป็นกรณีฉุกเฉิน

ซึ่งหาก EMA ให้การอนุมัติก็จะส่งผลให้ไฟเซอร์สามารถใช้วัคซีนดังกล่าวในยุโรปภายในปีนี้ สำหรับตัวเลขที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อคืนนี้ (1/12) ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนพฤศจิกายน อยู่ที่ระดับ -0.3% ต่ำกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์อยู่ที่ -0.2% แต่ทรงตัวเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม ที่ระดับ -0.3%

อย่างไรก็ตามตลาดยังคงติดตามการเจรจาข้อตกลงการค้า Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2045-1.2085 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2053/55 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/12) ที่ระดับ 104.29/31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (1/12) ที่ระดับ 104.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐและความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19 จะช่วยทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวได้ ทำให้นักลงทุนขายเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยและเข้าถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

สำหรับตัวเลขที่ได้มีการเปิดเผยในวันนี้ (2/12) เปิดเผยความเชื่อมั่นครัวเรือนประจำเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 33.7 ทรงตัวกับเดือนตุลาคมที่ระดับ 33.6 โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.25-104.67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 104.64/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายน (2/12), ดัชนียอดค้าปลีกของเยอรมนีประจำเดือนตุลาคม (2/12), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีนและยูโรโซนประจำเดือนพฤศจิกายน (3/12), ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ประจำเดือนพฤศจิกายน (4/12), อัตราการว่างงานของสหรัฐประจำเดือนพฤศจิกายน (4/12)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -0.40/-0.10 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -1.20/-0.50 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ