ฐากร ปิยะพันธ์ จัดทัพ ‘เครือไทยฯ’ บุกตลาดรายย่อย

ฐากร ปิยะพันธ์
ฐากร ปิยะพันธ์
สัมภาษณ์

หลังจากธุรกิจกลุ่มการเงินในเครือ “เจ้าสัวเจริญ” หรือ “นายเจริญ สิริวัฒนภักดี” ได้ดึงมือดีอย่าง “นายฐากร ปิยะพันธ์” ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการการเงิน โดยเฉพาะธุรกิจด้านรายย่อยมานาน แถมยังเก่งในด้านการ “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กร แก้เกม “เทคโนโลยีดิสรัปชั่น” เข้ามานั่งเก้าอี้ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2563 ที่ผ่านมา

ผ่านมาได้ 1 เดือนเศษ ซีอีโอคนใหม่ก็ได้ฤกษ์ปรากฏตัวในงานแถลงข่าวของบริษัทในเครืออย่าง บมจ.ไทยประกันภัย (TIC) ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามถึงทิศทางธุรกิจของ SEG หลังจากนี้

แบ่งบทบาทบริษัทย่อย

โดย “นายฐากร” เปิดเผยว่า ในเครือ SEG ธุรกิจประกันภัย ถือเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุดของกลุ่มในปัจจุบัน โดย SEG มีบริษัทประกันภัยด้วยกัน 3 บริษัท โฟกัสธุรกิจแตกต่างกันไป อย่าง บมจ.อาคเนย์ประกันภัย จะเน้นจับกลุ่มลูกค้าองค์กร ขณะที่ บมจ.อินทรประกันภัย จะโฟกัสกลุ่มตลาดเฉพาะ และ บมจ.ไทยประกันภัย จะจับกลุ่มลูกค้าดิจิทัล โดยปัจจุบันยอดขายส่วนใหญ่มาจากเบี้ยประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัยและทรัพย์สิน และประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ

ขณะที่พอร์ตรองลงมา จะเป็นธุรกิจประกันชีวิต ดำเนินงานผ่าน บมจ.อาคเนย์ประกันชีวิต ซึ่งแม้ว่าธุรกิจนี้จะมีส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ไม่ใหญ่มาก แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสเติบโตสูง

ถัดจากนั้นเป็นพอร์ตธุรกิจลีสซิ่ง ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทอาคเนย์แคปปิตอล ซึ่งในปัจจุบันมีฐานลูกค้ารถเช่าองค์กรและหน่วยงานภาครัฐอยู่มากกว่า 20,000 คัน

จัดทัพบุกตลาดสินเชื่อรายย่อย

“นายฐากร” บอกอีกว่า ปีนี้ SEG ยังได้ขยายธุรกิจสินเชื่อผ่านบริษัทอาคเนย์มันนี่ ในเฟสแรกได้ทดลองปล่อยกู้โดยการรับซื้อลดเช็คจากเกษตรกรชาวไร่อ้อยในเครือโรงงานน้ำตาลของทีซีซี รวมไปถึงมีการปล่อยกู้ให้กลุ่มยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งเป็นลักษณะสินเชื่อเติมทุนหมุนเวียน (supplier financing)

จากนั้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทมีแผนจะบุกตลาดสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน ซึ่งบางกระบวนการขณะนี้อยู่ในแผนที่กำลังจะขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมไปถึงกำลังเริ่มทำระบบข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์ ที่จะรองรับการออกผลิตภัณฑ์ โดยส่วนนี้ต้องใช้เวลาอีก 1-2 ปี อีกทั้งต้องเตรียมกำลังคนและกระบวนการทำงาน ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้เวลาอีก 1 ปีเศษ ถึงจะพร้อมทำงานเต็มรูปแบบ

“เป้าหมายการบุกตลาดสินเชื่อรายย่อยในอีก 2-3 ปี ไม่ได้นานเกินไป เนื่องจากตลาดนี้ค่อนข้างใหญ่ มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยช่วงนี้อาจจะเพิ่งเห็นเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจยังมีโอกาสโตได้ อย่างไรก็ดี คงต้องดูทิศทางหนี้เสีย (NPLs) ก่อน รวมไปถึงการเคลื่อนตัวของผู้เล่นในตลาดด้วย แต่ที่สำคัญ คือ ต้องวางโครงสร้างพื้นฐานในตัวระบบของบริษัทให้เรียบร้อยก่อน” นายฐากรกล่าว

ในแง่รับมือการแข่งขัน “นายฐากร” มองว่า ในธุรกิจสินเชื่อรายย่อยนี้ ใครที่ทำกระบวนการทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด และบริหารความเสี่ยงได้ดีที่สุด จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จะสามารถทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยสามารถแข่งขันได้

5 ปีดันพอร์ต “ลีสซิ่ง” โต

ขณะที่เป้าหมายระยะต่อไป “นายฐากร” กล่าวต่อว่า SEG คาดหวังว่าในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า จะสร้างสมดุล (บาลานซ์) พอร์ตโฟลิโอธุรกิจในกลุ่ม ทั้งธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต และธุรกิจลีสซิ่ง ให้มีสัดส่วนเท่า ๆ กันอยู่ที่ 33%

“การบาลานซ์พอร์ตให้ได้ตามที่หวังไว้ อาจจะเป็นความท้าทายที่สูงมาก แต่ก็คาดหวังจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในส่วนธุรกิจลีสซิ่งให้เป็น 1 ใน 3 ของพอร์ตโฟลิโอให้ได้” นายฐากรกล่าว

ชูเทคโนโลยีกด “ต้นทุน”

ซีอีโอ SEG กล่าวด้วยว่า เป้าหมายสำคัญ คือ ทุกธุรกิจในกลุ่มเครือไทยโฮลดิ้งส์ ต้องทำต้นทุนให้ต่ำและมีประสิทธิภาพที่สุด ยกตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ประกัน เดิมจะมีต้นทุนพนักงาน/เจ้าหน้าที่ ดังนั้น ต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนเหล่านี้ลดน้อยลง ซึ่งคงจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย หรือใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์สิ่งที่ทำและวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

“ทั้งหมดนี้ ทำเพื่อให้ได้ต้นทุนต่อขนาดที่ดีที่สุด จะได้ถ่ายโอนราคาได้ถูก ซึ่งจะทำให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย” นายฐากรกล่าว

จากภาพทั้งหมดนี้ คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตลาดสินเชื่อรายย่อยน่าจะแข่งขันกันดุเดือดขึ้นแน่นอน เพราะนอกจาก SEG แล้ว ก็ยังมีผู้เล่นรายใหญ่อีกหลายรายที่กระโจนเข้าสู่สมรภูมินี้