“กรุงเทพประกันภัย” ผนึก BBL กวาดเบี้ยอาเซียน

ไฟไหม้รถบรรทุกน้ำมัน
ภาพข่าว : มติชน

ปี 2563 ตลาดประกันภัยทั่วโลกต่างเผชิญผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายบริษัทต้องปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคตครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการลงทุนขยายกิจการ อย่าง บมจ.กรุงเทพประกันภัย (BKI) ล่าสุด ก็มีการปรับแผนการขยายธุรกิจในต่างประเทศด้วยกลยุทธ์ใหม่ที่จะสามารถลดต้นทุน และทำกำไรได้มากขึ้น

โดย “นายพนัส ธีรวณิชย์กุล” กรรมการและที่ปรึกษาด้านการขยายธุรกิจ บมจ.กรุงเทพประกันภัย เปิดเผยว่า แผนขยายธุรกิจในต่างประเทศในปัจจุบันบริษัทจะไม่ลงทุนเปิดกิจการเอง แต่จะอาศัยเครือข่ายธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่มีในทุกประเทศอาเซียน และอาศัยบริษัทประกันพันธมิตรในแต่ละประเทศเข้าไปรับงานและส่งประกันภัยต่อมาให้บริษัทอีกต่อหนึ่ง

ที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยประกันทางอ้อมเติบโตดีตามยอดปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพ โดยเฉพาะในประเทศอินโดนีเซียมีเบี้ยประกันเข้ามา 100 ล้านบาทต่อปี ผ่านบริษัท Central Asia Insurance และยังได้งานรับประกันธุรกิจในเครือปูนซิเมนต์ไทย (SCG) มาต่อเนื่อง ขณะที่ในเวียดนามมีเบี้ยประกันเข้ามา 100-200 ล้านบาทต่อปี จากบริษัท BaoViet Insurance ซึ่งทำหน้าที่รับประกันแทน

ขณะที่ในกัมพูชา จะดำเนินธุรกิจผ่านบริษัท Asia Insurance (Cambodia) ซึ่งดำเนินธุรกิจมาแล้วกว่า 30 ปี และดำเนินธุรกิจผ่านบริษัท Bangkok Insurance (Lao) ใน สปป.ลาว ที่ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 4 ปี ซึ่งใน 2 ประเทศนี้ เป็นสาขาที่บริษัทลงทุนและบริหารเอง

ธุรกิจใน “กัมพูชา-ลาว” ทำกำไร

สำหรับภาพรวมธุรกิจในแต่ละประเทศนั้น “นายพนัส” บอกว่า ในส่วนของกัมพูชา ผลประกอบการ 9 เดือนแรกปีนี้มีเบี้ยประกันรวมอยู่ที่ 12 ล้านเหรียญสหรัฐ จัดอยู่ในอันดับ 2 ของธุรกิจนี้ในกัมพูชา ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 11% มีกำไรสุทธิ 944,290 เหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.15% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ถือเป็นปีที่มีกำไรค่อนข้างดี จากภาพรวมตลาดประกันวินาศภัยในกัมพูชาเติบโต 18% จากช่วงเดียวกันปีก่อน มีเบี้ยรวมที่ 88 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประกันภัยรถยนต์ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 18.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัทมีมาร์เก็ตแชร์ 18%

“บริษัทในกัมพูชาใช้เวลา 7 ปีกว่าจะถึงจุดคุ้มทุน โดยทำกำไรได้ต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ 8 เป็นต้นมา” นายพนัสกล่าว

ส่วนธุรกิจใน สปป.ลาว เพิ่งพลิกกลับมามีกำไรได้เล็กน้อยอยู่ที่ 65,140 เหรียญสหรัฐ หลังปีก่อนขาดทุน 71,410 เหรียญสหรัฐ โดยมีเบี้ยรวมอยู่ที่ 4 ล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในอันดับ 6 ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 5% จากภาพรวมตลาดประกันวินาศภัยใน สปป.ลาว มีเบี้ยรวมที่ 72 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 28% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยประกันภัยเบ็ดเตล็ด (miscellaneous) พอร์ตใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 42.3 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาด 59% (ข้อมูลล่าสุดปี 2562)

“เราเริ่มดำเนินธุรกิจใน สปป.ลาวเมื่อเดือน ส.ค. 2559 ใช้เวลา 4 ปีกว่าจะพลิกกลับมามีกำไรได้เล็กน้อย แต่สถานการณ์ประเทศตอนนี้ยังค่อนข้างวิกฤต หลังฟิทช์ เรทติ้งส์ดาวน์เกรด สปป.ลาวเหลือระดับ CCC ซึ่งจัดอยู่ในระดับ junk bond หรือฐานะการเงินประเทศค่อนข้างอ่อนแอ” นายพนัสกล่าว

ตลาด “อินโดฯ-เวียดนาม” สดใส

ขณะที่ตลาดที่น่าสนใจมาก ๆ คือ ตลาดประกันวินาศภัยในอินโดนีเซีย โดยบริษัท Central Asia Insurance มีเบี้ยประกันรับ 214 ล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในอันดับ 5 ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 4% จากภาพรวมตลาดมีเบี้ยรวม 5,627 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 14% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งประกันภัยทรัพย์สินมีพอร์ตใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 667 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาด 25% (ข้อมูลปี 2562)

ส่วนในเวียดนาม บริษัท BaoViet Insurance มีเบี้ยประกันรับ 444 ล้านเหรียญสหรัฐ อยู่ในอันดับ 1 ครองมาร์เก็ตแชร์ 20% จากภาพรวมทั้งระบบมีเบี้ยรวม 2,268 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 13% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งประกันรถยนต์ถือว่าใหญ่ที่สุด มีเบี้ยรับอยู่ที่ 724.1 ล้านเหรียญสหรัฐ มีส่วนแบ่งตลาด 32% (ข้อมูลปี 2562)

“ตลาดเวียดนามถือว่าน่าสนใจมาก ไม่มีปัญหาการเมือง ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 โตบวก 2.6% และที่น่าจับตา คือ สหภาพยุโรปเซ็นข้อตกลงการค้าเสรีกับเวียดนาม ซึ่งจะได้เปรียบเรื่องจ่ายภาษีมากกว่าไทย ดังนั้นอีกไม่กี่ปีระดับเบี้ยประกันคงไล่ตามไทยได้ แต่ปัญหาในเวียดนามคือภัยธรรมชาติ ด้านตลาดอินโดนีเซียก็น่าสนใจ เพราะจำนวนประชากร 290 ล้านคน เฉลี่ยแล้วเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว ขณะที่กัมพูชาอาจจะโตได้จากการค้าขายกับประเทศจีน ส่วน สปป.ลาวยังแย่ไม่มีใครกล้าไปลงทุน ยกเว้นจีนเพราะเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่” นายพนัสกล่าว

รับงานประกันธุรกิจ ซี.พี.ทั่วโลก

“นายพนัส” บอกด้วยว่า ปีที่แล้วบริษัทเพิ่งคว้างานใหญ่ในการเข้าไปรับประกันภัยให้กลุ่มธุรกิจเครือ ซี.พี.ทั่วโลก ปัจจุบันมีเบี้ยประกันส่วนนี้ทยอยเข้ามาแล้วกว่า 200-300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นเบี้ยรับประกันธุรกิจในประเทศ 50% ส่วนที่เหลือเป็นเบี้ยรับประกันธุรกิจในเครือจากทั่วโลก

“แม้ว่าธุรกิจทั่วโลกจะเผชิญสถานการณ์โควิด-19 แต่คาดว่าสิ้นปี 2563 ภาพรวมเบี้ยประกันภัยรับในต่างประเทศ จะเข้ามาใกล้เคียงปีก่อนอยู่ที่ 500 ล้านบาท” นายพนัสกล่าว

ตั้งเป้าปีนี้เบี้ยรวมในไทยโต 8%

ส่วนเบี้ยประกันภัยรวมในไทยปีนี้ “นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน” กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร BKI เปิดเผยว่า คาดว่าจะอยู่ที่ 22,800 ล้านบาท เติบโต 8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และในปี 2564 อยู่ที่ 23,700 ล้านบาท เติบโต 5%

กลยุทธ์ที่ BKI ใช้ขยายธุรกิจในต่างประเทศ ที่อาศัยใช้จุดแข็งด้านเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพ และพันธมิตรท้องถิ่นในการรับงาน นับว่าเป็นกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ แถมยังช่วยลดต้นทุนได้ ยิ่งในภาวะวิกฤตเช่นนี้ยิ่งเห็นผลได้ชัดเจนขึ้น