ดอลลาร์อ่อนค่า ตลาดคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่

ภาพประกอบข่าวดอลลาร์-เงิน-ผลตอบแทน

ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า ขณะตลาดคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ หลังตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานพุ่งสูงขึ้นถึง 30,000 ราย จากมาตรการควบคุมโรคที่รัดกุมในบางรัฐของสหรัฐ ทำให้มีการปลดคนออกมากขึ้น

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน-4 ธันวาคม 2563 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (30/11) ที่ระดับ 30.27/28 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (27/11) ที่ระดับ 30.28/29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักท่ามกลางความวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ นอกจากนี้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงกดดันหลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมากระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานพุ่งสูงขึ้น 30,000 ราย เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยตัวเลขที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 778,000 ราย สูงกว่าตัวเลขที่คาดการณ์ที่ 732,000 ราย

โดยสาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากมาตรการควบคุมโรคที่รัดกุมในบางรัฐของสหรัฐ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางแห่งมีการปลดพนักงานออกมากยิ่งขึ้น ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่มีการเปิดเผยในวันอังคาร (1/12) สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 57.5 ในเดือน พ.ย. จากระดับ 59.3 ในเดือน ต.ค. ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 58.0 ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 1.3% ในเดือน ต.ค. หลังจากลดลง 0.5% ในเดือน ก.ย. ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือน ต.ค.

นอกจากนี้นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และนางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีการหารือกันเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงินกว่า 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนมีความหวังว่า สภาคองเกรสจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ในไม่ช้านี้ ตามข้อเสนอของวุฒิสภาเพื่อเยียวยาประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ต่อมาในวันพฤหัสบดี (3/12) ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังอ่อนค่าต่อเนื่อง หลัง ADP เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นเพียง 307,000 ตำแหน่งในเดือน พ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 475,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังเปิดเผยรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจของเฟดทั้ง 12 เขต หรือ Beige Book” เมื่อวานนี้ โดยระบุว่าเฟดเกือบทุกเขตรายงานว่า แนวโน้มทางธุรกิจของบริษัทเอกชนยังคงเป็นไปในเชิงบวก แต่บริษัทเหล่านี้มีความเชื่อมั่นลดน้อยลง เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวเล็กน้อยจนถึงปานกลาง

ส่วนปัจจัยภายในประเทศในวันจันทร์ (30/11) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดประจำเดือน ต.ค. เกินดุล 0.9 เกินดุล 0.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่ำที่สุดในรอบ 4 เดือน พร้อมระบุว่าเศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.หดตัวในอัตราสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนในเดือน ต.ค. ปรับตัวลดลง 1.1% จากเดือนก่อน

สำหรับมูลค่าส่งออกในเดือน ต.ค. ปรับตัวลดลง 5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการหดตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า ขณะที่มูลค่าการนำเข้า หดตัวลง 12.1% ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 3.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ต่อมาในวันพฤหัสบดี (3/2) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ในเดือน พ.ย. 2563 อยู่ที่ 102.19 หดตัว -0.41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) จากที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว -0.45% และหดตัว -0.04% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค. 63 ขณะที่ CPI ช่วง 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) เฉลี่ยหดตัว -0.90%

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) อยู่ที่ 102.95 ขยายตัว 0.18% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.01% จากเดือน ต.ค. 63 ส่วน 11 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.) Core CPI เฉลี่ยยังเป็นบวก 0.29% ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 30.13-30.35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/12) ที่ระดับ 30.14/15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (30/11) ที่ระดับ 1.1956/57 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมือวันศุกร์ (27/11) ที่ระดับ  1.1962/65 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยตลาดยังคงจับตามองเรื่องด้านความคืบหน้าประเด็น Brexit โดยทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษเปิดเผยว่าผู้แทนทั้งสองฝ่ายกำลังหารือกันอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้มีการส่งสัญญาณความคืบหน้าบางประการในประเด็นเรื่องข้อกำหนดด้านความเสมอภาคทางการแข่งขัน แต่ยังคงมีประเด็นด้านการประมงซึ่งยังคงถือเป็นปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้

สำหรับตัวเลขที่ได้มีการเปิดเผยในวันอังคาร (1/12) ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของยูโรโซนประจำเดือน พ.ย. อยู่ที่ระดับ 53.8 สูงกว่าเดือน ต.ค.ที่ระดับ 53.6 ในช่วงสัปดาห์ค่าเงินยูโรยังคงได้รับอานิสงส์ในเชิงบวกจากรายงานที่ว่า ไฟเฟอร์ อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทยาใหญ่ที่สุดของสหรัฐ และ BioNTech ซึ่งเป็นบริษัทยาของเยอรมนี ได้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานยาแห่งยุโรป (EMA) เพื่อขออนุมัติการจำหน่ายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ของทางบริษัทเป็นกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะส่งผลให้ไฟเซอร์สามารถใช้วัคซีนดังกล่าวในยุโรปภายในปีนี้

ทั้งนี้ตลาดยังคงติดตามการเจรจาข้อตกลงการค้า Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด โดยการเจรจา ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักรในขณะนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปลายสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.1925-1.2175 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/12) ที่ระดับ 1.2158/61 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันจันทร์ (30/11) ที่ระดับ 104.05/06 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (30/11) ที่ระดับ 104.10/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ในวันจันทร์ (30/11) กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่นเปิดเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค.ปรับตัวขึ้น 3.8% ทำสถิติเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

ส่วนดัชนีการผลิตที่โรงงานและเหมืองแร่อยู่ที่ระดับ 95.0 ในเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. ซึ่งอยู่ที่ 91.6 ขณะที่ดัชนีการขนส่งในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 4.6% แตะที่ 94.7 และดัชนีสต๊อกสินค้าคงคลังภาคอุตสาหกรรม ลดลง 1.6% สู่ระดับ 95.9

ต่อมาในวันอังคาร (1/12) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเปิดเผยว่าการใช้จ่ายการลงทุนของบริษัทเอกชนญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ทรุดตัวลง 10.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ทั้งนี้สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ที่จะมีการในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ ซึ่งจะพิจารณาจากตัวเลขการใช้จ่ายการลงทุนล่าสุดด้วย ขณะที่ข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้น 21.4% จากไตรมาส 2

สำหรับตัวเลขที่ได้มีการเปิดเผยในวันนี้ (2/12) เปิดเผยความเชื่อมั่นครัวเรือน ประจำเดือน พ.ย.อยู่ที่ระดับ 33.7 ทรงตัวจากเดือน ต.ค.ที่ระดับ 33.6

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.65-104.74 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (4/12) ที่ระดับ 103.92/94 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ