ธพส.เลือก”เซ็นทรัล” เช่ารร. 20 ปี เล็งออกหุ้นกู้ 2 หมื่นล. ผุดตึกใหม่

ธพส.เผย “กลุ่มเซ็นทรัล” คว้าสิทธิเช่าศูนย์ประชุม-โรงแรม ในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ แจงเป็นรายเดิมที่เคยรับจ้างบริหารได้งานต่ออีก 20 ปี จ่ายค่าเช่า 1.1 พันล้านบาทครั้งเดียว เล็งใช้เป็นเงินทุนจ้างออกแบบสร้างศูนย์ราชการโซน C ปีหน้า ขณะที่เงินลงทุนทั้งโครงการเตรียมทำซีเคียวริไทเซชั่นออกหุ้นกู้ 2.2 หมื่นล้านบาท อายุ 30 ปี

นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ ธพส.ได้เอกชนผู้ชนะการประมูลลงทุนในสิทธิการเช่าอาคารศูนย์ประชุมและโรงแรมที่อยู่ในบริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะแล้ว คือ กลุ่มเซ็นทรัล ที่รับจ้างบริหารโรงแรมดังกล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยอยู่ระหว่างรอให้ทางอัยการตรวจร่างสัญญาให้เรียบร้อยก่อนที่จะเสนอกระทรวงการคลังเห็นชอบให้มีการลงนามต่อไป

“สัญญาเช่าจะมีระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2560 ไปสิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิ.ย. 2581 เท่ากับอายุของศูนย์ราชการแห่งนี้ ซึ่งค่าเช่าก็เป็นไปตามโมเดลที่เราออกแบบไว้คือ 1,100 ล้านบาท ตลอดอายุสัญญา ซึ่งจะจ่ายครั้งเดียวจบตั้งแต่ปีแรก ดังนั้น ทาง ธพส.ก็สามารถนำเงินดังกล่าวกลับมาใช้พัฒนาในเรื่องอื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการโซน C บนเนื้อที่ราว 81 ไร่ ที่จะเริ่มปี 2561 นี้” นายสุเมธกล่าว

นายสุเมธกล่าวอีกว่า สำหรับการก่อสร้างศูนย์ราชการโซน C นั้น ธพส.ตั้งเป้าไว้ว่า จะต้องเป็นอาคารที่ทันสมัยที่สุดในวันที่เปิดใช้งาน ซึ่งจะระดมทุนด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชั่น) เช่นเดียวกับเมื่อครั้งสร้างศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะเฟสแรก โดยจะมีการออกหุ้นกู้ มูลค่าราว 20,000-22,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 30 ปี ส่วนเงินที่ได้จากการประมูลโรงแรม ก็จะนำมาใช้ในการเตรียมการโครงการ เช่น การว่าจ้างที่ปรึกษา ค่าออกแบบก่อสร้าง รวมถึงใช้เป็นสภาพคล่องของ ธพส.เป็นต้น

“การทำซีเคียวริไทเซชั่น เป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีปรับเปลี่ยนเพื่อให้เข้ากับสภาพปัจจุบันขึ้น โดยอายุหุ้นกู้ก็จะวางไว้ 30 ปี แถมรอบนี้ก็น่าจะดีกว่าครั้งก่อนที่ตอนนั้นยังไม่มีการออกบอนด์ระยะยาวถึง 30 ปี แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีบอนด์ 30 ปีแล้ว ก็จะดีกว่าเดิมในการกำหนดราคาอ้างอิงผลตอบแทน จากที่เมื่อก่อนเราต้องทำ 15 ปี กับ 15 ปี หรือ 10 ปี กับ 20 ปี แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องทำแบบนั้น และเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ระดับที่เหมาะสม ไม่ทำให้ต้นทุนสูง ดังนั้นรัฐก็น่าจะได้ประโยชน์สูงสุดจากเรื่องนี้” นายสุเมธกล่าว

กรรมการผู้จัดการ ธพส.กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ ธพส.ได้ให้สำนักงานวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการเตรียมการออกหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่ อย่างไรก็ดี เมื่อจะมีการออกหุ้นกู้อย่างเป็นทางการ คงต้องพิจารณาอีกทีว่าจะต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ใหม่หรือไม่

นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ในฐานะประธานกรรมการ ธพส. กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้รับรายงานว่าผลการประมูลที่เอกชนรายเดิมเป็นผู้ชนะการประมูล จากที่มีผู้เข้าร่วมประมูลด้วยกันทั้งสิ้น 3 ราย เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการนี้ได้ดำเนินการตามกระบวนการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) แต่เนื่องจากเป็นโครงการมูลค่าต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท จึงสามารถปฏิบัติตามแนวทางของกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ คือ หลังจากกระทรวงการคลังเห็นชอบ ก็ลงนามในสัญญาได้ทันที


“ตอนนี้ทาง ธพส.กำลังส่งร่างสัญญาให้อัยการตรวจ เมื่อเสร็จแล้วก็จะเสนอเข้าบอร์ด ธพส.เห็นชอบ แล้วเสนอกระทรวงการคลัง กระบวนการทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน พ.ย.นี้” นายพชรกล่าว