ธปท.แก้ปม ‘ซอฟต์โลน’ แป้ก ปรับสูตรขยับเพดานดอกเบี้ย 5%

เงินบาท-ดอกเบี้ย

“คลัง-ธปท.” เล็งออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ เติมสภาพคล่องต่อลมหายใจเอสเอ็มอี ปลดล็อกซอฟต์โลน 5 แสนล้านเงื่อนไขยุบยับ วงในเผย “กระสุนด้าน” ปล่อยกู้ได้ 1.2 แสนล้าน ช่วยได้แค่ 7 หมื่นราย ถกเปลี่ยนโมเดล-ปรับสูตรใหม่ ใช้ซอฟต์โลนเป็นแหล่งทุน “คนละครึ่ง” กับเงินแบงก์ เปิดทางคิดดอกเบี้ย 5% ดึง บสย.ค้ำสินเชื่อใหม่ สร้างแรงจูงใจปล่อยกู้

นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจเวลานี้ ที่น่าเป็นห่วงคือสภาพคล่องของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เนื่องจากขณะนี้ความเสี่ยงของลูกหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่กล้าปล่อยกู้เพิ่ม ขณะที่สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) แบงก์ชาติ 5 แสนล้านบาท

ข้อมูลล่าสุดปล่อยได้เพียง 1.2 แสนล้านบาท เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีความกังวลปัญหาหนี้เสียที่จะตามมา แม้ว่าแบงก์จะได้ต้นทุนต่ำจาก ธปท. แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ย 2% ก็ทำให้แบงก์พาณิชย์มองว่าไม่คุ้มกับความเสี่ยง ดังนั้นขณะนี้ ธปท.ก็มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการเติมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไร

ขณะที่ก่อนหน้า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. ได้ยอมรับถึงปัญหา พ.ร.ก.ซอฟต์โลน 5 แสนล้านบาทของ ธปท.ว่า จนถึงขณะนี้เพิ่งปล่อยสินเชื่อออกไปได้ประมาณ 1.2แสนล้านเท่านั้น เนื่องจากข้อกำหนดหรือเงื่อนไขบางอย่างไม่เอื้อที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ โดยเฉพาะการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์คิดดอกเบี้ยต่ำ 2% ขณะที่ความเสี่ยงของลูกหนี้สูงขึ้น ทำให้ธนาคารไม่กล้าปล่อยกู้ ซึ่งส่งผลให้เอสเอ็มอีก็เข้าไปไม่ถึงซอฟต์โลน

ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การที่จะแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลน เป็นเรื่องไม่ง่ายและต้องใช้เวลานาน ดังนั้น ธปท.ก็อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางอื่น ๆ ที่จะทำได้ง่ายและเร็วกว่า เช่น อาจออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ที่ปรับเงื่อนไขให้ตอบโจทย์มากขึ้น

ซอฟต์โลนไม่ขยับ ดบ. 2% ไม่คุ้ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังมีการหารือร่วมกับ ธปท. ถึงแนวทางการช่วยเหลือสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี เนื่องจากปัจจุบันซอฟต์โลนวงเงิน 5 แสนล้านบาทของ ธปท. เพิ่งมีการขอใช้ไปเพียง 122,075 ล้านบาท จำนวนผู้ประกอบการที่เข้าถึงสินเชื่อเพียง 73,266 ราย เนื่องจากซอฟต์โลนมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างเข้มงวด และเดิมมองว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบได้เร็ว แต่สถานการณ์กลับลากยาวกว่าที่ประเมินไว้

“ซอฟต์โลนเดิมที่ออกมา กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำแค่ 2% ต่อปี แต่ก็มีข้อจำกัด ทั้งเรื่องการให้วงเงินไม่เกิน 20% ของสินเชื่อคงค้าง ทั้งการค้ำประกันให้แค่ 2 ปี แถมยังค้ำบนหลักประกันเดิมซึ่งแบงก์มองว่าไม่ค่อยคุ้มค่ากับความเสี่ยงของการเป็นหนี้เสีย ทำให้แบงก์ไม่ค่อยยอมปล่อยกู้ซอฟต์โลนดังกล่าว แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการออกโครงการซอฟต์โลนพลัส ที่ให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าไปช่วยค้ำประกันตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป แต่สุดท้ายก็ยังติดปัญหาประเด็นเดิม ๆ จึงมีการใช้ซอฟต์โลนพลัสไม่มาก เพราะเงื่อนไขไม่จูงใจให้แบงก์ปล่อยกู้”

เปิดช่องแบงก์คิดดอกเบี้ย 5%

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการหารือกันถึงประเด็นที่ธนาคารพาณิชย์ขอคิดดอกเบี้ยสูงกว่า 2% เพื่อจูงใจให้แบงก์ปล่อยกู้ รวมถึงการปรับรูปแบบ สำหรับลูกค้าที่จะกู้เพิ่มเติมมากกว่า 20% ตามเงื่อนไขกฎหมายซอฟต์โลน โดยใช้เงินของ ธปท.ไปเป็นแหล่งทุน (funding) ให้แบงก์นำไปปล่อยกู้ร่วมกับเงินของแบงก์เอง ฝ่ายละ 50% หรือใส่เงินคนละครึ่ง เพื่อที่จะสามารถปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าปกติที่แบงก์คิด

แต่จะสูงกว่าดอกเบี้ยซอฟต์โลน (2%) ซึ่งอาจจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 5% ต่อปี พร้อมกับให้ บสย.เข้ามาค้ำประกันสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มเติมดังกล่าวด้วย

“อย่างน้อยเอสเอ็มอีก็จะจ่ายดอกเบี้ยถูกกว่าที่แบงก์คิดกันอยู่ ส่วนแบงก์ก็สามารถคิดดอกเบี้ยได้มากกว่า 2% และมี บสย.มาช่วยค้ำประกันด้วย ก็จูงใจให้แบงก์กล้าปล่อยกู้มากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว

จับตาออกซอฟต์โลนก้อนใหม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แนวทางดังกล่าวจะต้องมีการแก้กฎหมายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน คาดว่าอาจใช้วิธีการออก พ.ร.ก.ฉบับใหม่ มากกว่าการแก้ พ.ร.ก.ฉบับเดิมที่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ ซึ่งจะยุ่งยาก

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้พูดคุยกับ ธปท. ในเรื่องของอุปสรรคในการปล่อยกู้ซอฟต์โลน 1-2 ประเด็น ซึ่งแบงก์ได้เสนอให้ปรับแก้คือ การเพิ่มแรงจูงใจการปล่อยกู้ด้วยการขยับเพดานอัตราดอกเบี้ยเป็น 5% ต่อปี จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 2% ต่อปี จากต้นทุนเงินที่ ธปท.เรียกเก็บแบงก์ 0.01% ต่อปี

“เนื่องจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อของแบงก์ค่อนข้างสูง มีต้นทุนค่าดำเนินการ และต้นทุนในการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ แม้ว่าจะให้ บสย.เข้ามาช่วยชดเชยความเสียหาย แต่ก็ต้องทยอยเคลมเป็นพอร์ต ดังนั้นหากคิดดอกเบี้ยได้สูงขึ้น แบงก์ก็จะกล้าปล่อยซอฟต์โลนมากขึ้น”

บสย.หนุนตั้ง “โกดังพักหนี้”

ขณะที่นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานกรรมการ บสย. กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างหาแนวทางปรับเงื่อนไขซอฟต์โลน โดยส่วนหนึ่งจะสนับสนุนสินเชื่อโครงการ warehousing (โกดังเก็บหนี้) อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่ง บสย.ก็มีการเสนอแนวทางการจัดตั้ง warehousing ให้ ธปท.พิจารณาด้วยเช่นกัน

“แวร์เฮาซิ่ง จะเข้ามาช่วยเป็นที่พักหนี้ และจะต้องมีกระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ธปท.จะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งจะต้องให้ธุรกิจที่เป็นหนี้เสีย และกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นหนี้เสียเข้ามา เพราะธุรกิจเหล่านี้ควรมีโอกาสที่จะเดินหน้าต่อ และ ธปท.ต้องจัดซอฟต์โลนให้ด้วย แม้ว่าการแก้ไข พ.ร.ก.ซอฟต์โลนจะยุ่งยาก

แต่เวลานี้ธุรกิจได้รับผลกระทบ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญของประเทศชาติที่จะต้องอธิบายให้ได้ว่า หากปรับแก้กฎหมายแล้ว เป็นผลดีอย่างไรบ้าง ช่วยผู้ประกอบการได้กี่ราย เป็นเงินเท่าไหร่” นายบรรยงกล่าว

จี้เร่งเติมสภาพคล่องธุรกิจ

ด้านแหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านเอสเอ็มอี กล่าวว่า ตอนนี้ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในระบบยังไม่เพิ่มมาก ทำให้คิดกันไปว่าหนี้ยังดี แต่จริง ๆ แล้ว มีเอสเอ็มอีจำนวนหนึ่งที่ชักเนื้อมาจ่ายหนี้ คือ ใช้เงินเก็บที่มีอยู่มาจ่าย ไม่ใช่มีรายได้เกิดขึ้นใหม่แล้วนำมาจ่ายหนี้ ดังนั้น หากเศรษฐกิจแย่ลากยาว คนเหล่านี้ก็คงไปไม่รอด

“ตอนนี้เหมือนกับเงินถูกดูดเข้าไปอยู่กับระบบสถาบันการเงินหมด ขณะที่ธุรกิจขาดสภาพคล่อง แต่เงินฝากเต็มธนาคาร ซอฟต์โลนแบงก์ 5 แสนล้านบาทตอนนี้ใช้ไปแค่ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งช่วยเอสเอ็มอีไปได้แค่กว่า 7 หมื่นราย เรียกได้ว่ากระสุนด้าน” แหล่งข่าวกล่าวว่า

หากแบงก์ชาติไม่แก้ หรือออก พ.ร.ก.ซอฟต์โลนใหม่ ก็คงต้องใช้กลไกแบงก์รัฐ หรือธนาคารออมสินในการเติมสภาพคล่องอีก ซึ่งก็มีข้อจำกัด เนื่องจากพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังจะมีเพดานกำหนดขอบเขตการอุดหนุนงบประมาณของภาครัฐไว้ ซึ่งปีงบประมาณนี้อุดหนุนได้ไม่เกิน 8 หมื่นล้านบาท แต่ปัจจุบันมี บสย.ใช้วงเงินไปแล้วเกือบ 3 หมื่นล้านบาท และยังมีการอุดหนุนเรื่องพืชผลการเกษตร อย่างข้าวและยางพาราอีก

สมาคมแบงก์ร่วมถก
นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เข้าใจว่าขณะนี้ทางสมาคมธนาคารไทย (TBA) ธปท. รวมถึงกระทรวงการคลัง และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) อยู่ระหว่างการหารือเพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น การตั้ง warehousing และการปรับปรุงรูปแบบสินเชื่อซอฟต์โลน

โดยเฉพาะการปรับปรุงโครงการซอฟต์โลน ที่น่าจะทำให้การปล่อยสินเชื่อทำได้คล่องตัวขึ้น เนื่องจากปัจจุบันถูกจำกัดด้วยต้นทุนและระดับความเสี่ยงไม่สอดคล้องกัน เช่น ดอกเบี้ยต่ำ แต่ธนาคารไม่คุ้มกับความเสี่ยง

ดังนั้น แนวทางการปรับปรุงอาจจะมีการขออนุมัติวงเงินก้อนใหม่เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และใช้กลไกบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยรับความเสี่ยงในการค้ำประกัน 30-35% ซึ่งถือว่าเป็นกลไกที่มีผลมากที่สุด เพื่อปลดล็อกปัญหาสภาพคล่องของธุรกิจ เพราะหากใช้วิธีแก้ พ.ร.ก.ซอฟต์โลนจะต้องใช้เวลานาน