‘การบิดเบือนค่าเงิน’ คืออะไร? ไทยต้องหวั่นสหรัฐฯ หรือไม่?

รู้จักการบิดเบือนค่าเงิน
ภาพโดย Suwit Luangpipatsorn จาก Pixabay

ข่าวต่างประเทศที่ทำให้หลายคนฟังแล้วตกใจ คือการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จัดให้ประเทศไทยอยู่ในลิสต์ 10 ประเทศ “ถูกจับตา” เรื่องการ “บิดเบือนค่าเงิน” ซึ่งฟังดูแล้วไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ แต่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจความหมายว่าคืออะไรกันแน่? และอาจจะอยากรู้ว่าเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร

วันนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปหาคำตอบเรื่องการ “บิดเบือนค่าเงิน” กัน

ความหมายของการ “บิดเบือนค่าเงิน”

การบิดเบือนค่าเงิน (currency manipulation) หมายถึงการที่รัฐบาลของประเทศใดประเทศหนึ่ง ใช้นโยบายทางการเงินเข้าแทรกแซงค่าเงินในสกุลของตัวเอง เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ต้องการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ, สร้างเสถียรภาพทางการเงิน หรือสร้างความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ

โดยทางธนาคารกลางจะเข้าซื้อหรือขายสกุลเงินต่างประเทศ (foreign currency) เพื่อแลกกับสกุลเงินของประเทศตัวเอง

สำหรับประเทศที่การส่งออกเป็นเครื่องยนต์สำคัญ มักจะต้องการให้ค่าเงินของตัวเอง “อ่อน” มากกว่า “แข็ง” เมื่อเทียบกับสกุลเงินอ้างอิง เพราะเวลาเงินอ่อนค่า ราคาสินค้าส่งออกจะดูแล้ว “ถูก” ในมุมของประเทศที่รับซื้อ

​ประเทศที่บิดเบือนค่าเงินในมุมมองของสหรัฐฯ

นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์ ฝ่ายนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ขาดดุลการค้าในระดับสูงมานาน โดยรัฐบาลสหรัฐฯ มองว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของประเทศคู่ค้า รัฐบาลสหรัฐฯ จึงใช้เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อลดการขาดดุลการค้าทั้งการเจรจาต่อรองทางการค้า การใช้มาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี

หนึ่งในมาตรการที่สหรัฐฯ ใช้คือ การตรวจสอบและระบุรายชื่อประเทศที่มีการบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้า และใช้ประเด็นดังกล่าวในการเจรจาต่อรองหรือตอบโต้ทางการค้ากับประเทศเหล่านั้น 

ในมุมมองของสหรัฐฯ การบิดเบือนค่าเงินเพื่อหวังผลทางการค้าหรือ currency manipulation คือ การที่ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ เข้ามาทำธุรกรรมให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าลงมากกว่าปัจจัยพื้นฐานของประเทศอย่างมาก จนก่อให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ

โดยเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ใช้วัดว่าประเทศใดอาจมีการบิดเบือนค่าเงินในรายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประกอบด้วย 3 เกณฑ์หลัก ได้แก่

(1) การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP ซึ่งสหรัฐฯ ได้ลดเกณฑ์การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดให้เข้มงวดขึ้นจากเกณฑ์เดิมที่ร้อยละ 3 ของ GDP

(2) การเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา

(3) การสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมากกว่าร้อยละ 2 ของ GDP

กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะใช้เกณฑ์ดังกล่าวตรวจสอบกับประเทศคู่ค้าที่มีมูลค่าส่งออกและนำเข้าโดยรวมกับสหรัฐฯ มากกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จากเดิมที่ตรวจสอบเฉพาะประเทศคู่ค้าหลัก 12 อันดับแรกเท่านั้น ซึ่งครอบคลุม 21 ประเทศ รวมถึงไทยด้วย

แม้จะยังไม่มีประเทศใดเข้าข่ายครบทั้ง 3 เกณฑ์ข้างต้น แต่มีบางประเทศที่เข้าข่ายเพียงบางเกณฑ์หรือมีท่าทีที่ส่อเค้าว่าอาจจะบิดเบือนค่าเงิน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ จะจัดไว้ในรายชื่อประเทศที่ต้องเฝ้าติดตามหรือ monitoring list

อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ ธนาคารกลางที่เข้ามาทำธุรกรรมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอาจมีวัตถุประสงค์อื่นและไม่ได้หวังผลทางการค้า เช่น การดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินกว่าที่เศรษฐกิจจะรับได้ การใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือในการดำเนินโยบายการเงินเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

นอกจากนี้ การขาดดุลหรือเกินดุลการค้าขึ้นกับหลายปัจจัยทั้งนโยบายเศรษฐกิจ ภาวะการออมและการลงทุนของประเทศนั้น ๆ ซึ่งนิยาม currency manipulation ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นั้น ไม่ได้พิจารณาวัตถุประสงค์ของการแทรกแซงค่าเงินและความเชื่อมโยงที่มีต่อดุลการค้าอย่างชัดเจน จึงเป็นประเด็นที่นักวิชาการหลายฝ่ายยังคงถกเถียงกัน

ลิสต์ล่าสุดของสหรัฐฯ

รายงานว่าด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราฉบับ 6 เดือน ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา ระบุว่า “สวิตเซอร์แลนด์” กับ “เวียดนาม” แทรกแซงตลาดเงินตรา เพื่อส่งผลกระทบต่อดุลการชำระเงิน โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่ต้องการชิงความได้เปรียบในการทำการค้าระหว่างประเทศ

มีการวิเคราะห์ว่า สหรัฐฯ จะเพิ่มรายชื่อ 2 ประเทศดังกล่าวไปอยู่ในลิสต์ประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี ที่มีการเพิ่มประเทศใหม่เข้าไปอยู่ในลิสต์ “ประเทศปั่นค่าเงิน” 

โดยทั้ง “เวียดนาม” และ “สวิตเซอร์แลนด์” ต่างเกินเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อ เป็นจำนวนมาก และมีการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศมากถึงร้อยละ 5 และ ร้อยละ 14 ของจีดีพี ตามลำดับ

นอกจากนี้ รายงานล่าสุดยังระบุด้วยว่า ประเทศหรือดินแดนที่อยู่ลิสต์ “เฝ้าจับตา” เพิ่มเป็น 10 ประเทศและดินแดน ได้แก่ ไต้หวัน, อินเดีย และ ไทย ที่เพิ่งถูกนำรายชื่อไปรวมกับ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เยอรมนี, อิตาลี, สิงคโปร์ และ มาเลเซีย

ปฏิกิริยาจากประเทศที่ถูกกล่าวหา

  • ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ตอบโต้ โดยยืนยันว่าไม่มีการปั่นค่าเงินแต่อย่างใด พร้อมประกาศว่าจะเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศต่อไป
  • ธนาคารกลางเวียดนาม ระบุว่า จะทำงานร่วมกับสหรัฐฯ เพื่อการันตีความสัมพันธ์ทางการค้าให้เป็นไปอย่างสมานฉันท์และยุติธรรม ขณะที่แบงก์ชาติเวียดนามย้ำว่า การควบคุมเงินเฟ้อของรัฐบาล เป็นไปเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจมหภาค มิใช้ให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม
  • สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย ล่าสุด ยืนยันว่า ไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมาได้สื่อสารทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่น และจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่า

ธุรกิจไทยที่ทำการค้าสหรัฐฯ ต้องกังวลเรื่องนี้หรือไม่?

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายสื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว “การถูกจัดเข้ากลุ่มเฝ้าติดตาม (monitoring list) ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ภาคธุรกิจทั้งไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ และการประเมินดังกล่าวไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายของ ธปท. เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ รวมถึงการดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นไปตามหน้าที่ของธนาคารกลางและความจำเป็นของสถานการณ์”