ปี’64แบงก์รับมือ NPL ขาขึ้น เร่งตั้งสำรองหนี้-ห่วง SME ยังเปราะบาง

หนี้

แบงก์เตรียมแผนตั้งรับหนี้เสียปี’64 เร่งตั้งสำรอง-ขายหนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”ประเมินตัวเลขเอ็นพีแอลระบบแบงก์ปีหน้าทยอยเพิ่มขึ้นทั้งปี 3.53% คาด 3 ไตรมาสแรกยังพุ่งต่อเนื่อง เหตุการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอียังเปราะบาง “ทีเอ็มบี-กสิกรไทย” เร่งตั้งสำรองเพิ่มรับมือ-ดูแลลูกค้าเสี่ยงต่อเนื่อง ขณะที่ “กรุงไทย” รับสินเชื่อกลุ่มธุรกิจโรงแรมมีโอกาสตกชั้นหนี้เสีย 5 พันล้านบาท ฟาก“ซีไอเอ็มบี ไทย” เล็งตัดขายหนี้ 3 พันล้านบาท กดหนี้เสียต่ำ 5%

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปี 2564 ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 3.53% โดยผลจากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีการเร่งปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงธนาคารพาณิชย์เองก็มีการบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลล่วงหน้า ทำให้เอ็นพีแอลค่อย ๆ ทยอยปรับเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3.35% จากนั้นจะทยอยปรับขึ้นในไตรมาส 1-3 ปีหน้า แล้วปรับลดลงในไตรมาส 4

“ในปี 2563 ตัวเลขเอ็นพีแอลในไตรมาส 3 อยู่ที่ระดับ 3.13% ของสินเชื่อรวมทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่า 5.14 แสนล้านบาท สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2554 โดยเอ็นพีแอลในไตรมาส 3 ดังกล่าว เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ที่อยู่ที่ 3.08% หรือ 5.09 แสนล้านบาท และสิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 3.35%”

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังเห็นการเพิ่มขึ้นของเอ็นพีแอล เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ธุรกิจยังคงมีข้อจำกัดในการฟื้นตัวด้วย รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้ยังคงเปราะบางอยู่

“เอสเอ็มอียังเป็นเซ็กเตอร์ที่ต้องการความช่วยเหลือต่อเนื่องไปถึงปีหน้า โดยเอ็นพีแอลเอสเอ็มอีในไตรมาส 3 ปีนี้อยู่ที่ 6.4% หรือ 2.3 แสนล้านบาท ขยับจากไตรมาส 2 ที่อยู่ที่ 6.1%”

นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย (TMB) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เอ็นพีแอลตอนนี้ เรียกได้ว่าอยู่ระหว่างการถูกละลาย จากมาตรการพักหนี้ (debt holiday) ซึ่งยังคงเห็นการไหลเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2564 แม้ว่าจะมีบางกลุ่มที่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ แต่ก็ยังคงมีความเปราะบางสูง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวส่งผลต่อรายได้และกำลังซื้อ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

สำหรับเอ็นพีแอลของทีเอ็มบีปัจจุบันอยู่ที่ 2.3-2.4% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากธนาคารมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โดยคาดว่าภายในสิ้นปี 2563 จะสามารถรักษาระดับเอ็นพีแอลไม่เกิน 3% ส่วนในปี 2564 จะเห็นการเพิ่มขึ้นแน่นอน

ซึ่งระบบธนาคารพาณิชย์ จะยังคงเร่งตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ไปถึงไตรมาส 1 ปีหน้า เพื่อรองรับเอ็นพีแอลที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นในอนาคต

“เราคงเห็นหนี้เสียขยับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากหนี้ถูกแช่แข็ง และกำลังละลายช้า ๆ โดยเฉพาะเอสเอ็มอียังไม่แข็งแรงเท่ากลุ่มอื่น ๆ เพราะก่อนจะมีโควิด-19 กลุ่มนี้ก็ลำบากอยู่แล้ว จึงเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางสูง”

นายพิพัฒน์พงศ์ โปษยานนท์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แผนงานสำคัญในปี 2564 ของธนาคาร คือพยายามดูแลเอ็นพีแอลไม่ให้ขยับสูงไปไกลจากปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีความเสี่ยงและยังต้องดูแลต่อเนื่อง

โดยมั่นใจว่าสามารถบริหารจัดการเอ็นพีแอลได้ เนื่องจากไตรมาส 3 และต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปีนี้ ธนาคารตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญไว้ค่อนข้างมาก ขณะที่มาตรการความช่วยเหลือต่าง ๆ จาก ธปท.และภาครัฐ น่าจะพยุงให้ภาคครัวเรือนและธุรกิจสามารถฟื้นกลับมาได้

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า เอ็นพีแอลของแบงก์ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นในปีหน้า แต่คงไม่ไหลแรงเท่าในปีนี้ เนื่องจากพอร์ตสินเชื่อส่วนใหญ่ของแบงก์ มีหลักประกัน ประกอบกับแบงก์ตั้งสำรองไว้ค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา

“เดิมปีนี้ แบงก์ประเมินว่าเอ็นพีแอลจะลดลงเหลือประมาณ 4% แต่จากการที่สินเชื่อไม่ได้ขยายตัวตามคาด ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอลยังอยู่ที่ระดับกว่า 5% ส่วนปีหน้า แบงก์พยายามควบคุมให้ต่ำกว่า 5% โดยจะมีการตัดขายหนี้ราว 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้รายใหญ่และสินเชื่อที่อยู่อาศัย และหวังว่าปีหน้าสินเชื่อน่าจะสามารถขยายตัวได้ราว 3.5-4% จากที่ปีนี้ทรงตัว”

นายเอกชัย เตชะวิริยะกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานธุรกิจขนาดใหญ่ 1 ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กลุ่มลูกค้าสินเชื่อโรงแรมที่ธนาคารมีพอร์ตอยู่ราว 1.8 หมื่นล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวมีราว 5,000 ล้านบาท ที่มีความเสี่ยงจะกลายเป็นเอ็นพีแอลได้ อย่างไรก็ดี ธนาคารมีเครื่องมือตามนโยบายของ ธปท.ในการปรับโครงสร้างหนี้ พักชำระหนี้ ซึ่งธนาคารจะพิจารณาช่วยเหลือลูกค้าแต่ละราย

นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า เอ็นพีแอลยังเป็นประเด็นที่น่าห่วงในปี 2564 โดยธนาคารกรุงเทพก็พยายามบริหารจัดการให้ดี เพื่อไม่ให้ตัวเลขหนี้เสียไต่ระดับขึ้นไปมากกว่านี้ ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

อย่างไรก็ดีมาตรการยืดการชำระหนี้ตามแนวทาง ธปท. รวมถึงการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองค่อนข้างสูง น่าจะเพียงพอรับมือ โดยปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ของธนาคารแข็งแกร่งอยู่ในระดับ 19%

“ปีหน้าสินเชื่อเกษตรและอุตสาหกรรมยังไม่ดี และยังมีปัญหาคนตกงานอยู่ ดังนั้น เราก็ยังต้องระวังเรื่องหนี้เสียอยู่ ขณะที่ภาคการเงินก็ยังต้องปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัลด้วย”

นายวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ลูกค้าของแบงก์ที่ยังต้องการความช่วยเหลือหลังจบมาตรการพักชำระหนี้ เมื่อเดือน ต.ค.มีอยู่ประมาณ 10% ซึ่งแบงก์ได้ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง