“อาคม” เล็งปฏิรูปเศรษฐกิจ-โครงสร้างภาษีใหม่ หลังพ้นวิกฤตโควิด

อาคม-รมว.คลัง

รมว.คลัง เล็งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ-โครงสร้างภาษีใหม่ หนุนตัดเก็บรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย หลังโควิดคลี่คลาย ชี้ที่ผ่านมารัฐใช้เงินจำนวนมาก บรรเทาผลกระทบ ต้องเร่งสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สิ่งที่จะต้องผลักดันหลังจากช่วงโควิด-19 คือ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ใหม่ และการปฏิบัติการเชิงรุก 3 ประสาน ทั้งภาคการเงิน การคลัง และภาคตลาดทุน โดยจะต้องเร่งปรับโครงสร้างหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต

“วันนี้เรามีรายจ่ายจำนวนมาก รัฐยังต้องใช้จ่ายบรรเทาโควิด เพื่อดูแลประชาชน ฉะนั้น สิ่งที่กระทรวงการคลังต้องทำหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย จึงเป็นการปรับโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ใหม่ เพื่อให้เก็บรายได้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย และจะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อดูแลหนี้สาธารณะให้อยู่ในกรอบ 60% ต่อจีดีพี ซึ่งถ้าเศรษฐกิจดี หนี้สาธารณะก็จะอยู่ในกรอบที่แคปไว้ไม่เกิน 60%”

นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่จะต้องก้าวข้าม เพื่อนำพาเศรษฐกิจไทยฝ่าวิกฤต ด้วยการเข้าไปเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ผ่าน 4 เครื่องยนต์หลัก เนื่องจากวิกฤตโควิดครั้งนี้ไม่เคยประสบมาก่อน อย่างไรก็ดี จะสามารถผ่านพ้นไปได้ โดยที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ไทยผ่านวิกฤตมาแล้ว 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ปี 2540 กับวิกฤตทางการเงิน, ปี 2552 วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ซึ่งเป็นวิกฤตจากต่างประเทศเข้ามากระทบในประเทศไทย, และ 3 วิกฤตโควิด ที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยไทยจะก้างผ่านไปได้ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของรัฐและประชาชน

พร้อมกันนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็ว โดยเทียบกับ ปี 2540 ที่เศรษฐกิจ -6% ก็ใกล้เคียงกับคาดการณ์ปีนี้ ว่าจะติดลบ -6% แม้นักวิเคราะห์หลายสำนักจะคาดการณ์ต่างออกไป แต่ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจไทยดีขึ้นแล้ว จากไตรมาส 2 หดตัว -12.2% เห็นสัญญาณดีขึ้นในไตรมาส 3  ที่หดตัวเหลือ -6.4% โดยจะต้องรอติดตามไตรมาส 4 แม้จะมีเรื่องโควิดจังหวัดสมุทรสาครแพร่ระบาด แต่ก็หวังว่าจะสามารถควบคุมได้เร็ว เพื่อให้ทันในช่วงเทศกาลปีใหม่

ทั้งนี้ 4 เครื่องยนต์ ที่กล่าวมาข้างต้น ได้แก่ 1.รัฐต้องสร้างความมั่นใจในมาตรการต่าง ๆ พร้อมกับเข้มงวด อย่างในจังหวัดสมุทรสาคร เห็นตัวอย่างแล้ว 2.ค่าเงินบาท โดยช่วงสิ้นปีจะเห็นแนวโน้มเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุล พื้นฐานตลาดทุนอยู่ในเกณฑ์ดี เงินทุนจากต่างประเทศจึงไหลเข้ามา ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งจะต้องดูแลด้วย

3.การท่องเที่ยว โดยต่างชาติเข้ามาไม่ได้ กระทบเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เพราะส่วนนี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกว่า 12% ต่อจีดีพี ไทยจึงต้องอาศัยการท่องเที่ยวในประเทศ ซึ่งคิดเป็น 6% ต่อจีดีพี โดยขณะนี้สามารถกระตุ้นได้แล้ว 3% ยังต้องการอีก โดยต้องมีการปรับมาตรการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อให้กระตุ้นคนไทยเดินทางออกไปเที่ยว

และสุดท้าย 4.โครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมไว้เป็นอย่างมาก ซึ่งจะเริ่มเห็นการดำเนินการแล้วเสร็จ เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ พ.ย. 2564 และจะเปิดให้ทดลองนั่งตั้งแต่ พ.ค. 2564 เป็นต้น