กฎ 25/5 ของ บัฟเฟตต์

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน

โดย ภาคย์ภูมิ ศิริหงษ์ทอง

“ไมค์ ฟลินต์” เป็นนักบินส่วนตัวของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มานานกว่า 10 ปี ในอดีตเคยขับเครื่องบินให้กับประธานาธิบดีสหรัฐ 4 คน เรียกได้ว่าเป็นนักบินที่มีความสามารถมาก ๆ แต่ฟลินต์กลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ บัฟเฟต์จึงแนะนำให้ฟลินต์เขียนเป้าหมายในชีวิตของตัวเองมา 25 ข้อ แล้วเลือกสิ่งที่สำคัญที่สุด 5 อย่าง

หลังจากบัฟเฟตต์ให้ยืนยันว่า 5 อย่างนี้เป็นสิ่งที่ฟลินต์เลือกมาอย่างรอบคอบแล้วจริง ๆ ก็ถามกับฟลินต์ว่า “คุณจะทำยังไงกับเป้าหมาย 5 อย่างนี้” ฟลินต์ตอบว่า “สิ่งเหล่านี้มันสำคัญกับผมมาก ผมจะเริ่มลงมือทำมันอย่างเร็วที่สุด ตั้งแต่คืนนี้เลย” และบัฟเฟต์ก็ถามต่อพร้อมรอยยิ้มที่มุมปากว่า “แล้วคุณจะทำอย่างไรกับเป้าหมายอีก 20 อย่างที่เหลือ?” ฟลินต์ตอบว่า “ถึงแม้ว่า 5 อย่างนั้นจะสำคัญกับผมมาก แต่อีก 20 อย่างที่เหลือก็สำคัญไม่แพ้กัน ถึงแม้มันจะไม่เร่งด่วนแต่ผมก็อยากจะทำมันถ้ามีเวลา” บัฟเฟตต์ตบโต๊ะดังป๊าบบ พร้อมตอบกลับไปว่า “คุณเข้าใจผิดแล้ว สิ่งที่คุณไม่ได้เลือกเป็นสิ่งที่คุณต้องทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงมัน (Avoid-at-all-cost) คุณจะไม่เสียเวลากับสิ่งเหล่านี้จนกว่าคุณจะทำเป้าหมาย 5 ข้อที่สำคัญที่สุดสำเร็จ”

วอร์เรน บัฟเฟตต์

“กฎ 25-5” นี้สอดคล้องกับคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของบัฟเฟตต์คือ Focus หรือ การจดจ่อกับสิ่งที่สำคัญ (และในทางกลับกันหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่สำคัญ) ถ้าเราดูกิจวัตรในชีวิตประจำวันของบัฟเฟต์จะพบว่าบัฟเฟตต์ใช้เวลา 80% ของแต่ละวันไปกับการอ่าน เขาไม่มีคอมพิวเตอร์ในห้องทำงาน และตารางการทำงานก็โล่งมาก เพราะเขาไม่ใส่อะไรที่ไม่มีความสำคัญลงไป จนครั้งหนึ่งบิล เกตต์ เคยแอบแซวว่า “ผมอิจฉาตารางการทำงานของบัฟเฟตต์มาก เพราะมันแทบจะไม่มีอะไรในนั้นเลย”

นอกจากเรื่องการทำงานแล้ว Focus ถือเป็นแก่นในปรัชญาการลงทุนของบัฟเฟต์ เขาเคยบอกว่า ให้เราคิดว่าในชีวิตของเรามีการ์ดเจาะรู 20 ช่อง ถ้าเราลงทุนในหุ้นครบ 20 ตัวแล้ว เราจะไม่สามารถลงทุนได้อีก การทำแบบนี้จะทำให้เราเพิ่มผลตอบแทนการลงทุนได้อย่างมหาศาล แน่นอนว่าเราต้องคิดหนักกว่าเดิมมาก ก่อนที่เราจะตัดสินลงทุนแต่ละครั้ง แต่ผลตอบแทนของการลงทุนแต่ละครั้งก็จะเพิ่มขึ้นทวีคูณ

ชีวิตการลงทุนของบัฟเฟตต์ในช่วงปี 1970s สามารถสร้างความมั่งคั่งมหาศาลด้วยการลงทุนในหุ้นแค่ 4 ตัว ปี 1967-1970 บัฟเฟตต์ใช้เงินทุนประมาณ $17.6 ล้านเหรียญเพื่อซื้อหุ้นบริษัท Blue Chip Stamps บริษัทที่ทำคูปองส่วนลดให้ร้านค้าปลีก (คล้าย ๆ แสตมป์ร้านสะดวกซื้อในปัจจุบัน) แล้วนำ float เงินสดของบริษัท (คูปองส่วนลดที่บริษัทออกไปให้ลูกค้า แต่ไม่มีใครมาเคลม) มูลค่า $55-$60 ล้านเหรียญ ไปซื้อกิจการ See’s Candies ในปี 1972 และ Wesco Financial ในปี 1973 หลังจากนั้น 4 ปี บัฟเฟตต์ใช้เงินจาก Blue Chip Stamps และเงินสดจากกำไรของ See’s Candies ทั้งหมด $41 ล้านเหรียญไปซื้อหนังสือพิมพ์ Buffalo News และบัฟเฟตต์ควบรวมกิจการทั้ง 4 บริษัทเข้าไปใน Berkshire Hathaway ในปี 1983 การลงทุนครั้งนี้ทำให้บัฟเฟตต์ได้ผลตอบแทน 247,800% หรือ คิดเป็นมูลค่าของหุ้น Berkshire Hathaway ณ ปัจจุบัน ที่ 4.36 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์สุทธิของบัฟเฟตต์

ผมเชื่อว่าเราสามารถนำหลักการเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ได้ในทั้งโลกของการลงทุนและชีวิตส่วนตัว สำหรับการลงทุน เราต้องเรียนรู้ที่จะใช้เวลาไปกับกิจกรรมที่เกิดประโยชน์สูงสุด ถึงแม้ว่าบัฟเฟตต์จะสร้างความมั่งคั่งได้จากหุ้นเพียงไม่กี่ตัว แต่ผลลัพธ์ก็มาจากการอ่านและวิเคราะห์หุ้นเป็นหมื่น ๆ ตัว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จแบบบัฟเฟตต์ ก็ต้องใช้เวลาส่วนมากไปกับการอ่านรายงานประจำปี หนังสือพิมพ์ งบการเงิน สำหรับนักลงทุนไทย เราโชคดีกว่าเพราะมี opportunity day ให้ฟังกันเป็นร้อยบริษัทในแต่ละไตรมาส ในทางกลับกัน การดูราคาหุ้นตลอดทั้งวัน การเทรดหุ้นบ่อย ๆ ไม่ช่วยสนับสนุนเป้าหมายในการลงทุนของเราในระยะยาว เราควรทำแต่น้อย เพื่อจะได้มีเวลาไปทำสิ่งที่สำคัญกว่า

ส่วนในเรื่องชีวิต เราควรถามตัวเราว่าอะไรคือ 5 สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา แล้วทุ่มเทเวลาและทรัพยากรทั้งหมดไปกับมัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ธุรกิจ สุขภาพ ครอบครัว ความสุข การเดินทาง การได้ทำในสิ่งที่รัก หรือ การทำประโยชน์เพื่อสังคม แน่นอนว่าชีวิตคนเราต้องเผชิญกับทางเลือกตลอดเวลา แต่ถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จและมีความสุขในชีวิต เราต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธสิ่งที่ “ดูเหมือนจะสำคัญ” เพื่อเปิดช่องว่างสำหรับ “สิ่งที่สำคัญที่สุด”