เปิดใจ ผยง ศรีวณิช “ธนาคารกรุงไทย-เป๋าตัง” พระเอกแห่งปี

"ผยง ศรีวณิช" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย
สัมภาษณ์พิเศษ

จากวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่ของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ปี 2563 เป็นปีแห่งความยากลำบากของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและประชาชน ปัญหา “หนี้เสีย” กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของระบบเศรษฐกิจสถาบันการเงินต้องแบกรับปัญหาลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถชำระหนี้แบบฉับพลันจำนวนมหาศาล

แต่ท่ามกลางวิกฤตครั้งนี้ “ธนาคารกรุงไทย” หรือ KTB ได้แสดงบทบาทในการเป็นพันธมิตรของรัฐบาล ตอบสนองต่อนโยบายและการขับเคลื่อนมาตรการเป็นอย่างดี ในการส่งผ่านความช่วยเหลือไปถึงประชาชน โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่กลายเป็นพระเอก ซึ่งประชาชนกว่าครึ่งประเทศรู้จักและใช้บริการ

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย และในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภารกิจสำคัญและความท้าทายของปี 2563 ที่ผ่านมา และที่ต้องเผชิญในปีหน้าในหลาย ๆ มุมมอง

KTB “ค้นพบตัวเอง”

นายผยงกล่าวว่า ความสำเร็จของธนาคารกรุงไทยในปีนี้ คือค้นพบตัวเองในการเป็น “ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ” แม้ว่ากฎหมายจะระบุว่า ไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทุกอย่างยังเหมือนเดิม FIDF (กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ) ยังถือหุ้น 55% ซึ่งในทางพฤติกรรมการปฏิบัติไม่เปลี่ยน และจากตัวตนที่เป็นธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ดังนั้น “เป้าหมายของเราไม่ใช่กำไรสูงสุด” แต่ต้องมีกำไรเหมาะสม ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยได้ประโยชน์ตามที่คาดหวัง ภายใต้การแข่งขันที่เป็นธรรม

“สิ่งที่เราดำเนินการ คนไปมองว่าเป็นรัฐบาล ความจริงคือรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะที่ทุก stakeholder ก็ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.มหาชน ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่อีกมิติหนึ่ง รัฐบาลคือ “ลูกค้ารายใหญ่” ของกรุงไทย ไม่ต่างอะไรกับแบงก์สีอื่น ที่มีพันธมิตรผู้ถือหุ้นเป็นลูกค้ารายใหญ่ ที่มีความสัมพันธ์คล้ายกับกรุงไทยกับรัฐบาล”

เกือบโดน ปลด…ก่อนแจ้งเกิด

“หลายคนพูดว่ากรุงไทยได้อภิสิทธิ์” ขอย้ำว่าไม่เลย แต่ถือเป็น “ภารกิจ”เพราะตอนเริ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรัฐบาลขอยืมใช้เครื่องรูดบัตร EDC ตอนนั้นอาจารย์สมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) ดุผมลั่นทำเนียบ เกือบโดนปลดแล้ว

เพราะทุกแบงก์บอกว่าได้หมดแต่กรุงไทยบอกว่าจะเอาเครื่องมาจากไหน ถึงเวลาไม่มีสักเครื่อง กรุงไทยต้องไปดำเนินการติดตั้งทั่วประเทศ แม้แต่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นพื้นที่สีแดง

ครั้งต่อมาคือ “ไทยชนะ” วันนั้นรัฐต้องการเครื่องมือบางอย่างในการติดตามโรคระบาด หนึ่งในนั้นคือต้องการใช้ “คิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์” เป็นช่องทาง ซึ่งวันนั้นธนาคารพาณิชย์ปฏิเสธ บนเหตุผลที่ว่าอาจกระทบเสถียรภาพระบบดิจิทัลเพย์เมนต์ แต่พอมาวันนี้

โครงการ “คนละครึ่ง” กลับมีคนบอกทำไมไม่ให้แบงก์อื่นทำ ต้องบอกว่าสิ่งเหล่านี้อยู่บนโครงสร้างพื้นฐานที่ธนาคารกรุงไทยพัฒนามาตลอด โดยใช้ทรัพยากรของแบงก์ไปดูแล และด้วยความลงตัว คือ ลูกค้าธนาคารกรุงไทยส่วนใหญ่อยู่ต่างจังหวัด ทำให้มีสาขาโครงสร้างพื้นฐานที่ดูแลและเข้าใจประชาชน

“ผมพูดตลอดว่า ถ้าไปชกที่พารากอน ไปชกเอ็มควอเทียร์ แบงก์กรุงไทยก็โดนน็อก แต่ถ้าให้ไปชกตลาดกิมหยง ตลาดสามชุก ผมสู้ได้หมดทั้งประเทศ”

เดินเกมรบ “คู่ขนาน”

นายผยงกล่าวว่า หลังจากที่ได้ประกาศเมื่อปี 2561 เรื่องการค้นพบตัวตนเป็น “ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ” ซึ่งก็ทำให้รู้ว่าพันธมิตรคืออะไร ต้องออกแบบธุรกิจแบบไหน เข้าใจในระบบว่าต้องสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม ในวันนั้นตัดสินใจสร้าง “Krungthai NEXT” ซึ่งตอนนี้ยังเป็นอินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ถ้าจำได้เปิดตัว NEXT บ่าย 3 โมง ตอน 5 โมงเย็นระบบล่ม เพราะระบบยังอยู่บนอินฟราเดิม ทำให้ต้องตัดสินใจแทนที่จะเป็น NEXT อย่างเดียวซึ่งเป็นระบบปิด มาสร้างแอป “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นระบบเปิดจริง ๆ ที่ไม่มีแม้แต่โลโก้กรุงไทย

“เราเดินแบบคู่ขนาน สร้างแอปเป๋าตังและพัฒนา “Krungthai NEXT” เป็นโมบายแบงกิ้ง จริง ๆ กรุงไทยลงทุนเรื่องดิจิทัลช้ากว่าธนาคารพาณิชย์อื่น แต่ข้อดีคือการลงทุนระบบโมบายแบงกิ้งวันนั้น ถูกกว่าเยอะ”

แต่สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ คนของกรุงไทยไม่ค่อยคุ้นกับกระบวนการทำงานแบบใหม่ ยังไม่เปลี่ยน ธนาคารจึงสร้างแพลตฟอร์มคู่ พร้อม ๆ กับการเสริมทักษะคน บนการทำงานภายในธนาคารไป

ตอบโจทย์รัฐบาลในฐานะลูกค้า

นายผยงกล่าวว่า เมื่อมีแพลตฟอร์มแล้ว โลกในอนาคตจะถูกเชื่อมโยงด้วยดิจิทัลคอนเน็กทิวิตี้ ซึ่งเป็นหลักความคิดแชริ่งอีโคโนมี เรื่องระบบนิเวศในการตอบโจทย์ลูกค้าในบริบท digital economy เชื่อมโยงกันด้วยแพลตฟอร์ม และดาต้า ด้วยยุทธศาสตร์คู่ขนาน Krungthai NEXT และเป๋าตัง ที่จะมารวมตัวกัน ฐานลูกค้าก้อนใหญ่ที่อยู่ในอีโคซิสเต็มของธนาคาร ซึ่งตอนนี้ 2 ระบบรวมกันมีคนใช้งานราว 40 ล้านคน เรียกว่ามากกว่า 50% ของประชากรทั้งประเทศ

แผนการทำงานของกรุงไทยจะเป็นการสร้างอีโคซิสเต็ม ที่นำไปสู่การตอบโจทย์ลูกค้าที่สามารถพูดได้ว่า “กรุงไทย เคียงข้างไทย สู่ความยั่งยืน” ขอย้ำว่า ไม่ใช่คำพูดเก๋ ๆ แต่เพราะเราเชื่อจริง ๆ โดยแนวคิดเกิดจากวันแรกที่ได้ภารกิจบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ดูแลประชากรฐานราก 14.6 ล้านคน มีร้านค้าโชห่วย ฐานรากทุกตำบลในประเทศไทย 80,000 กว่าร้านค้า ต่อยอดมาด้วย “ชิม ช้อป ใช้” และเมื่อเจอโควิด-19 สามารถตอบโจทย์รัฐบาลในการนำแพลตฟอร์ม “เป๋าตัง” ไปช่วยคู่ค้าของลูกค้า (รัฐบาล) ซึ่งคู่ค้าของรัฐบาลก็คือ ประชาชน บนแนวคิดดิจิทัลซัพพลายเชน

“ความที่เราเข้าใจลูกค้าหลักของเราซึ่งคือ รัฐบาล ที่มีความเป็นรัฐ มีภารกิจหน้าที่ กฎหมายที่ต้องปฏิบัติ แบงก์จึงยกตัว

“G” (government) แยกออกมาเป็น “ลูกค้าสำคัญ” ต่างจากคู่ค้าเทียบแบงก์อื่น ๆ ที่ให้รัฐเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มลูกค้าธุรกิจ ฉะนั้นเมื่อเราเข้าใจลูกค้าหลักคือรัฐบาลเป็นพิเศษ รัฐจึงให้กรุงไทยเข้าไปเป็นคู่คิด คู่พัฒนา พันธมิตร ทำภารกิจมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน เราเที่ยวด้วยกัน จนมาถึงคนละครึ่ง ซึ่งทุกโครงการก็จะมาช่วยสร้างอีโคซิสเต็มของธนาคารให้กว้างขึ้น” นายผยงกล่าวและว่าด้วยคีย์เวิร์ด “ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ”

นั่นคือจุดตั้งต้นที่บอกว่าแพลตฟอร์มของกรุงไทย จะต้องรับให้ได้ 40 ล้านคน ซึ่งวันนี้ไม่รู้หรอกว่าจะเกิดโควิด-19 ไม่ได้ออกแบบเพราะโควิด-19 แต่ออกด้วยเหตุผลทางธุรกิจที่เป็น strategic business direction บนความเป็นคนไทย

ก้อนอิฐและดอกไม้

ธนาคารกรุงไทยซึ่งถือว่าตามหลังคู่แข่งเรื่องเทคโนโลยี แต่มาวันนี้สามารถพัฒนาและสร้างแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้บริการ 2 ระบบรวมกันถึง 40 ล้านคน ตอบสนองต่อความต้องการของรัฐบาลในช่วงวิกฤตได้

นายผยงกล่าวว่า อีกด้านก็เป็นโชคดีของกรุงไทย ได้คุณสมคิด (สมคิด จิรานันตรัตน์) มาร่วมมือ ยอมรับว่าเป็นหนึ่งในผู้ทรงคุณวุฒิที่มีน้อยคนมาก ๆ ในประเทศไทยที่เข้าใจบริบทของดิจิทัล

เข้ามาช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ที่ระบบ Krungthai NEXT ล่มในวันเปิดตัว เพราะคุณสมคิดเห็นวิสัยทัศน์ของกรุงไทย ซึ่งตอบโจทย์วัตถุประสงค์การเป็น professional ของเขา ที่ต้องการช่วยทำให้ประเทศแข่งขันได้ และทำให้บริบทเรื่องดิจิทัลไม่ตกรถไฟ

“ที่พูดแบบนี้เพราะการพัฒนาแพลตฟอร์มที่รองรับคนเข้ามาตูมเดียว 20 ล้านคน ระบบการทำงานซับซ้อนมาก วันนั้นที่ผมสามารถบอกได้ว่าเป็นคอขวดในระบบ OTP ของค่ายมือถือ เพราะเราสามารถบอกได้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน ไม่เช่นนั้นเมื่อประชาชนเข้าไม่ได้ กรุงไทยก็ต้องรับก้อนอิฐทั้งหมด”

“ถือว่าเป็นความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรี และแบงก์กรุงไทย ที่กล้าตัดสินใจใช้แพลตฟอร์ม เพราะถ้าล่ม เราตอบโจทย์คนไทยไม่ได้เลย แต่การตัดสินใจไปแล้วรอด วันนี้จึงกลายเป็นอะไรที่อยู่ยั่งยืน แต่ทุกครั้งก็ต้องสวดมนต์ เดี๋ยวเปิดใช้คนละครึ่ง 15 ล้านคน วันที่ 1 ม.ค. 64 พนักงานกรุงไทยก็ต้องอดหลับอดนอน ปีใหม่ไม่ได้ไปเที่ยว แต่ก็คือภารกิจและความสำเร็จที่กรุงไทยภูมิใจ”

ต่อยอด “เป๋าตังสุขภาพ”

นายผยงกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากนี้ก็จะต่อยอดแพลตฟอร์ม “เป๋าตัง” จาก money wallet เป็น healthwallet โดยล่าสุดได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้บริการ สปสช. 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการต่อยอดไปตอบโจทย์เรื่องการดูแลระบบสาธารณสุข เช่น ผู้ถือบัตร 30 บาท ทุกคนมีสิทธิ์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่ชื่ออยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด วัคซีนถูกส่งไป แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีการฉีดจริงหรือไม่ ขณะที่งบประมาณก็หมดไป สุขภาพประชาชนก็ไม่ได้ดูแล แต่เมื่อมาใช้ health wallet ช่วยเรื่องความสะดวกและตรวจสอบได้ ด้านหนึ่งก็เป็นการกลับมาดูแลเรื่องสุขภาพประชาชน เป็นการ go beyond money และจะเชื่อมไปสู่บริการด้านสุขภาพต่าง ๆ


“ช่วงไตรมาส 1-2 ปีหน้า ความไม่แน่นอนจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าวัคซีนมีความชัดเจน ก็ต้องมาเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมประเทศ ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยกระจุกอยู่กับภาคส่งออกและการท่องเที่ยว”