ธนาคารพาณิชย์ชิงตลาดโอนเงินต่างประเทศปั๊มค่าฟี

ภาพ: Paula Bronstein/Getty Images

แบงก์เบนเข็มชิงตลาดโอนเงินข้ามประเทศ สร้างโอกาสปั้นรายได้เพิ่มหลังรายได้ธุรกรรมในประเทศเริ่มจำกัด จับมือพันธมิตร “น็อนแบงก์/ฟินเทค” พัฒนาบริการ-กดค่าฟีต่ำ ธปท.ชี้ “โควิด” หนุนคนใช้บริการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นทั้งใน-ต่างประเทศ “กรุงไทย” ผนึกฟินเทคคาดเปิดตัวไตรมาส 1 ปีหน้า ขณะที่ “ซีไอเอ็มบี ไทย” เตรียมจับมือน็อนแบงก์ 2-3 ราย

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจหันมาใช้บริการโอนเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น ส่งผลให้แนวโน้มธุรกรรมการโอนเงินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ธนาคารก็เสนอโซลูชั่นทางเลือกให้กับลูกค้าในการทำธุรกรรมได้สะดวกยิ่งขึ้นด้วย

เมื่อเร็ว ๆ นี้ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ประกาศความร่วมมือกับ GUAVAPAY ผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศชั้นนำจากประเทศอังกฤษ เปิดให้บริการรับเงินโอนเข้าจากประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศในยุโรปมายังประเทศไทย

ซึ่งได้ผสานเทคโนโลยีที่ทันสมัยของ RippleNet เครือข่ายการชำระเงินและการโอนเงินชั้นนำระดับโลก ทำให้ผู้โอนสามารถทำธุรกรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นสื่อกลางในการกระจายเงินเข้าสู่บัญชีธนาคารผู้รับปลายทางในประเทศไทยผ่านพร้อมเพย์เป็นสกุลบาทไทยฃแบบเรียลไทม์

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีประกาศว่า ในเดือน ธ.ค.นี้จะเปิดให้บริการโอนเงินข้ามประเทศสำหรับลูกค้ารายย่อยผ่านแอป KMA ที่สามารถโอนเงินได้มากกว่า 220 ปลายทางทั่วโลก รองรับ 15 สกุลเงินหลักด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำกว่า และอัตราแลกเปลี่ยนที่พิเศษ

นายไพศาล ธรรมโพธิทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกรรมการเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยกล่าวว่า ช่วงนี้ธนาคารพาณิชย์เริ่มกลับมาให้ความสนใจในการทำธุรกิจโอนเงินต่างประเทศกันมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่ ธปท.ผ่อนคลายกฎระเบียบและเปิดเสรีมากขึ้นโดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ทำธุรกรรมที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศได้แล้ว

รวมถึงธนาคารต่างพยายามหารายได้ค่าธรรมเนียมใหม่ ๆ เนื่องจากรายได้จากภายในประเทศเริ่มมีข้อจำกัดเพราะสินเชื่อปล่อยยากขึ้น และรายได้ธุรกรรมการเงิน (transaction banking) ก็ลดลงต่อเนื่อง

ขณะที่ตลาดโอนเงินต่างประเทศมีมูลค่าตลาดที่ค่อนข้างใหญ่และมีโอกาสเติบโต เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ คนจึงใช้วิธีการโอนเงินแทนทั้งภาคธุรกิจและรายย่อย

นายไพศาลกล่าวว่า ซีไอเอ็มบี ไทยอยู่ระหว่างพูดคุยกับพันธมิตร 2-3 ราย ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (น็อนแบงก์) คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 2 ปี 2564

นายธวัชชัย ชีวานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ ธนาคารกรุงไทยกล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างการพูดคุยกับฟินเทคหลายราย เพื่อขยายความร่วมมือในการโอนเงินระหว่างประเทศ

ทั้งในส่วนของรายย่อยและภาคธุรกิจ ซึ่งมองว่าเป็นทิศทางที่ทุกธนาคารกำลังดำเนินการอยู่ เนื่องจากธุรกรรมการโอนเงินในต่างประเทศเริ่มมีมากขึ้น จากเดิมส่วนใหญ่การโอนเงินจะทำผ่านช่องทางสาขา แต่ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาทำธุรกรรมบนช่องทางโมบายแบงกิ้งมากขึ้น

“การขยายความร่วมมือกับฟินเทค เป็นการทำรูปแบบการโอนเงินข้ามประเทศในรูปแบบใหม่ ด้วยต้นทุนและค่าธรรมเนียมที่ถูกลง โดยธนาคารกรุงไทยน่าจะมีความชัดเจนในเรื่องความร่วมมือกับฟินเทคในไตรมาส 1 ปี 2564 และเป็นแผนการดำเนินงานตลอดทั้งปี ในปีหน้าที่จะพัฒนาระบบและเชื่อมต่อช่องทางต่าง ๆ ทั้งเว็บไซต์และโมบายแบงกิ้งเพื่อให้การทำธุรกรรมการโอนเงินสะดวกมากยิ่งขึ้น” นายธวัชชัยกล่าว

รายงานจากธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันการทำธุรกรรมโอนเงินต่างประเทศผ่านแอปพลิเคชั่น K PLUS มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณธุรกรรมมากกว่า 6 หมื่นรายการ คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมมากกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งลูกค้าสามารถโอนเงินได้ 12 สกุลเงิน ครอบคลุม 30 ประเทศทั่วโลก