ปีฉลูหุ้นกู้จ่อครบดีล 7 แสนล้าน ‘ThaiBMA’ ชี้ ดบ.ต่ำเอื้อธุรกิจระดมทุน

set-ตลาดหุ้นไทย
แฟ้มภาพ

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เผยปี’64 หุ้นกู้ครบดีลราว 7.3 แสนล้านบาท ชี้บริษัทใหญ่-ธุรกิจเจ้าสัวเพียบ “ปูนใหญ่” ครบอายุมากสุด 5 หมื่นล้าน มองต้นทุนดอกเบี้ยหุ้นกู้ยังต่ำเอื้อเอกชนระดมทุน จับตาแบงก์หั่นดอกเบี้ยต่ำปล่อยกู้ชิงลูกค้ารายใหญ่

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 นี้ จะมีตราสารหนี้ภาคเอกชน (หุ้นกู้) ที่จะครบกำหนดมูลค่ากว่า 730,000 ล้านบาท โดยจัดอยู่ในระดับลงทุน (investment grade) คิดเป็นสัดส่วนกว่า 93% ซึ่งเป็นของผู้ออกหุ้นกู้ 127 บริษัทจากทั้งหมด 190 บริษัท ดังนั้น หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มดีขึ้น เชื่อว่าภาพเศรษฐกิจจะกลับมาเดินหน้าได้ และภาคเอกชนก็คงมีการระดมทุนออกหุ้นกู้

“อาจจะได้เห็นตลาดหุ้นกู้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เพราะต้นทุนอัตราดอกเบี้ยยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเอื้อภาคเอกชนสามารถจะระดมทุนได้ แต่นักลงทุนก็คงต้องเลือกพิจารณาเป็นรายบริษัท เพราะอาจจะมีผู้ออกบางรายที่ได้รับผลกระทบโควิดในปีที่ผ่านมา และยังไม่แน่ใจว่าปีนี้จะกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนเดิมหรือไม่”

สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีหุ้นกู้ครบกำหนดในปี 2564 เบื้องต้นมีมูลค่ารวมประมาณ 177,450 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev มูลค่า 48,000 ล้านบาท ซึ่งจะครบดีลในเดือน มี.ค. จำนวน 2 รุ่น มูลค่า 31,600 ล้านบาท และมูลค่า 16,400 ล้านบาท

2.บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC มีหุ้นกู้จะครบดีลมูลค่า 50,000 ล้านบาท ในเดือน เม.ย. และเดือน พ.ย.

3.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) จะครบดีลมูลค่าเกือบ 30,000 ล้านบาท ในเดือน ม.ค. จำนวน 15,000 ล้านบาท และเดือน ก.ค. อีกประมาณ 14,000 ล้านบาท

4.บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC จะมีหุ้นกู้ครบดีลมูลค่า 12,000 ล้านบาท ในเดือน ส.ค.

5.บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC จะมีหุ้นกู้ครบดีลในเดือน ส.ค. มูลค่า 20,000 ล้านบาท

6.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จะมีหุ้นกู้ครบดีลในเดือน พ.ย. มูลค่า 10,000 ล้านบาท และ

7.บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CPFTH จะมีหุ้นกู้ครบดีลในเดือน ม.ค. อีกมูลค่า 7,450 ล้านบาท

“เจ้าใหญ่ ๆ เหล่านี้เป็นบริษัทที่มีเรตติ้งค่อนข้างสูง จึงไม่น่าจะมีประเด็นในการขายหุ้นกู้ แต่สิ่งที่ต้องดูคือแบงก์มีสภาพคล่องค่อนข้างล้นระบบ การที่บริษัทเหล่านี้จะตัดสินใจออกหุ้นกู้ คงจะต้องเปรียบเทียบต้นทุนดอกเบี้ย ระหว่างออกหุ้นกู้ชุดใหม่กับดอกเบี้ยสินเชื่อที่แบงก์เสนอให้ในช่วงนั้น ๆ ด้วย” นางสาวอริยากล่าว

ขณะที่ทิศทางกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ในตลาดตราสารหนี้ไทย นางสาวอริยากล่าวว่า น่าจะยังเห็นเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาได้อยู่ในปีนี้ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนในตลาดบอนด์ไทยยังค่อนข้างดี ถ้าเทียบปัจจัยพื้นฐานของประเทศ ถือว่าพันธบัตรของไทยยังเป็นที่น่าสนใจของต่างชาติ ประกอบกับมีผลพลอยได้จากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอีก

อย่างไรก็ดี อาจจะต้องติดตามนโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ด้วยว่าจะส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่มากน้อยเพียงใด ขณะเดียวกันยังคงต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ภายในประเทศอย่างใกล้ชิดด้วย


นางสาวอริยากล่าวด้วยว่า ในส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) ของไทย ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมา บอนด์ยีลด์ระยะสั้น รุ่นอายุ 1 เดือน อยู่ที่ 0.35% ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาว รุ่นอายุ 10 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 1.3-1.4% ทั้งนี้ หากดูแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติม จนถึงไตรมาส 1 ปี 2564 นี้ อย่างไรก็ดี ต้องพิจารณาปัจจัยทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมด้วย