หุ้นขาขึ้น”บิ๊กบจ.”แห่เทขายพุ่ง 386 รายการ โกย 4 พันล้าน

ผู้บริหาร บจ. แห่เทขายหุ้นทำกำไรช่วงตลาดพีกทะลุ 1,700 จุด เผย 5 บจ. ถูกเทขายสูงสุดโกยเม็ดเงินรวม 2.96 พันล้านบาท “WORK-WHA-MONO” ติดโผมูลค่าซื้อขายสูงสุด “สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์” ร่วมวงขายหุ้นโรงแรมเซ็นทรัล “เปรมชัย กรรณสูต” เทขาย ITD ต่อเนื่องตั้งแต่ปลาย มิ.ย. 60 ดับบลิวเอชเอยอมรับแบ่งขายหุ้นให้นักลงทุนต่างชาติ โบรกฯชี้เรื่องปกติ ตลาดขาขึ้นผู้ถือหุ้นใหญ่สบช่องเทขายทำกำไร

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสถานการณ์ความร้อนแรงของตลาดหุ้นไทยหลังได้รับแรงส่งจากปัจจัยบวกภายในประเทศ ทั้งความผ่อนคลายทางการเมืองและความชัดเจนของช่วงเวลาเลือกตั้ง และภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว ส่งให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าซื้อขายต่อวันก็เพิ่มสูงขึ้น โดยดัชนีทะลุแนวต้านใหญ่ 1,700 จุด เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา และจากความร้อนแรงดังกล่าว ทำให้เริ่มเห็นกลุ่มผู้บริหารและกรรมการ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เทขายหุ้นออกมา ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.-20 ต.ค. 2560 พบว่ามีแรงเทขายหุ้นจากกลุ่มผู้บริหารและกรรมการรวม 386 รายการ มูลค่ากว่า 4.13 พันล้านบาท

Top 5 บิ๊ก บจ.เทขายหุ้น

โดยบริษัทที่มีแรงเทขายสูงสุด 5 อันดับแรก มีมูลค่าถึง 2.96 พันล้านบาท อันดับแรกคือ บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ (WORK) โดยนายปัญญา นิรันดร์กุล และนายประภาส ชลศรานนท์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการบริษัท ได้ขายหุ้นจำนวน 16 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.80% ของทุนจดทะเบียน ด้วยมูลค่าซื้อขาย 1,296 ล้านบาท เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2560 แก่ผู้ลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดยเป็นการขายให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัด บริษัทที่มีการซื้อขายรองลงมา คือ บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เป็นการเทขายหุ้นของนางสาวจรีพร จารุกรสกุล และนายสมยศ อนันตประยูร ผู้บริหารระดับสูงของบริษัท จำนวน 316 ล้านหุ้น มูลค่ารวมประมาณ 1 พันล้านบาท อันดับ 3 คือ บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO) เป็นการขายหุ้นสามัญของนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานกรรมการบริษัท จำนวน 80 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 317.64 ล้านบาท

อันดับ 4 คือ บมจ.สยามเวลเนสกรุ๊ป (SPA) นายประเสริฐ จิราวรรณสถิตย์ นายวิบูลย์ อุตสาหจิต นางฐานิศร์ อมรธีรสรรค์ และนางปราณี ศุภวัฒนเกียรติ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริหารหัวแถวของบริษัท พร้อมใจเทขายหุ้นเมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2560 จำนวน 20 ล้านหุ้น รวมเม็ดเงินกว่า 270 ล้านบาท ส่วนอันดับ 5 คือ บมจ.ดิจิตอลเทค แพลนเน็ต (ABC) ที่มีแรงเทขายสูง 77 ล้านบาท จากนายปรเมษฐ์ รังรองธานินทร์ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ของบริษัท

“สุทธิเกียรติ-เปรมชัย” ติดโผ

นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงดัชนีขาขึ้นยังมีผู้บริหารในบริษัทชั้นแนวหน้าทำรายการขายหุ้นในช่วงที่ผ่านมา เริ่มตั้งแต่นายสุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ และนายธีระเกียรติ จิราธิวัฒน์ ที่พร้อมใจทยอยเทขายหุ้น บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) ช่วงวันที่ 3 และ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา รวมกัน 1.6 แสนหุ้น มูลค่า 7 ล้านบาท

เช่นเดียวกับนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่มีการเทขายหุ้นเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา รวมปริมาณ 5.32 ล้านหุ้น มูลค่าราว 23 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายเปรมชัยได้มีการทยอยขายหุ้น ITD ออกมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2560

นอกจากนี้ช่วงต้นเดือน ต.ค.ยังมีข้อมูลเทหุ้น บมจ.เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท ของตระกูลส่งวัฒนาผู้ถือหุ้นใหญ่ ประกอบด้วย นายวราชัย ส่งวัฒนา และนายโอมา ส่งวัฒนา รวมปริมาณขายหุ้นสามัญ จำนวน 11.1 ล้านหุ้น มูลค่า 55.5 ล้านบาท

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขายหุ้นในส่วนของตนและนายสมยศ อนันตประยูร เป็นการขายให้กับต่างชาติ เพื่อเข้ามาเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในบริษัท ซึ่งไม่ได้กระทบต่อแผนการดำเนินงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับบริษัท เห็นได้จากราคาหุ้น WHA ยังคงปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันตนและนายสมยศ อนันตประยูร ยังถือครองหุ้น WHA รวมประมาณ 45% และยังไม่มีแผนขายหุ้นเพิ่มเติมในขณะนี้ โดยจะเร่งเดินหน้าแผนขยายธุรกิจ รองรับการพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ของไทยมากขึ้น ทั้งนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วน และคาดว่าในปีนี้ WHA จะมีรายได้อยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท

ผู้ถือหุ้นใหญ่สบช่องทำกำไร

ด้านนายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การขายหุ้นของผู้บริหารใน บจ.ที่เกิดขึ้นในช่วงดัชนีตลาดขาขึ้น ถือเป็นเรื่องปกติในการเทขายทำกำไร อย่างไรก็ดี บจ.เคทีบียังคงประเมินกรอบดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้จะกลับเข้าสู่ฐาน 1,700 จุด เพราะมองว่าการที่ดัชนีปรับลดลงแรงในช่วงวันที่ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา เหตุเพราะดัชนีอยู่ในช่วงขาขึ้นมานานแบบไม่ได้พัก ประกอบกับผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารมีภาพรวมออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์

นอกจากนี้ ยังได้รับปัจจัยลบจากราคาน้ำมันปรับขึ้น เป็นผลให้กลุ่มปิโตรเคมีมีกำไรจากผลิตภัณฑ์ลดลง ทำให้หุ้นกลุ่มใหญ่ทั้งปิโตรเคมีและธนาคาร มีภาพรวมปรับลดลงเข้าฉุดดัชนีตลาด อีกทั้งการที่ดัชนีปรับลดอย่างรวดเร็วมากกว่า 20 จุด ยังเป็นผลมาจากแรงเทขายปิดสถานะของธุรกรรม สัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อลดความเสี่ยง อย่างไรก็ดี ยังคงมั่นใจว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะยืนอยู่ที่ฐาน 1,760 จุด