คลังถอยดึงเงินแบงก์อุ้มSMEs กฤษฎีกาค้าน-ครม.อนุมติยุติแก้กฎหมาย

“อาคม” ถอยให้แบงก์ส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริม SMEs ชง ครม.เห็นชอบถอนร่างแก้ไขกฎหมายเกี่ยวข้อง 2 ฉบับ หลังกฤษฎีกาติง “สร้างความไม่เท่าเทียมผู้ฝากเงินรายอื่น-สร้างภาระต้นทุนให้ “สสว.-สคฝ.-กระทบรายได้กองทุนคุ้มครองเงินฝาก” ชี้คลังทบทวนแล้ว “หมดความจำเป็น” ใช้แนวทางให้แบงก์ส่งเงิน เหตุรัฐมีมาตรการช่วย SMEs เพียบแล้ว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบในการขอถอนร่างกฎหมายรวม 2 ฉบับที่มีความเกี่ยวข้องกัน คือ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราเงินนำส่งกองทุนคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. … ซึ่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวเคยได้รับการอนุมัติหลักการจาก ครม.เมื่อปี 2562 โดยมีเนื้อหาสาระคือ การกำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริม SMEs ที่อยู่ภายใต้สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในอัตรา 0.001% ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชี SMEs ที่ได้รับการคุ้มครอง

ทั้งนี้ เหตุผลของการขอถอนร่างกฎหมายดังกล่าว สืบเนื่องมาจากในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า การให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs โดยวิธีการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความเป็นธรรมและความไม่เท่าเทียมกันกับผู้ฝากเงินรายอื่น ๆ ในระบบ เนื่องจากเป็นการนำเงินฝากของประชาชนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินงานของ SMEs ไปให้ความช่วยเหลือแก่ SMEs อีกทั้งการให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริม SMEs อาจก่อให้เกิดต้นทุนแก่ทั้ง สสว. และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ในการจัดทำระบบงานเพื่อรองรับการนำส่งเงินดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังอาจก่อให้เกิดต้นทุนในการบริหารจัดการของสถาบันการเงิน ซึ่งอาจส่งผ่านต้นทุนดังกล่าวไปให้ SMEs รับภาระบางส่วน รวมถึงอาจส่งผลให้เงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากที่อยู่ในความดูแลของ สคฝ.ในแต่ละปีมีจำนวนลดลงจากเดิมที่ประมาณการไว้ 135 ล้านบาท เนื่องจากสถาบันการเงินต้องนำส่งเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทุนส่งเสริม SMEs

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า กระทรวงการคลังยังชี้แจงว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้มีนโยบายให้ความช่วยเหลือ SMEs ในรูปแบบต่าง ๆ อยู่แล้ว ทั้งมาตรการสินเชื่อซอฟต์โลน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทของธนาคารออมสิน, โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย Extra Cash ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท, มาตรการเพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในรูปแบบการพักชำระต้นเงิน การลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

รวมถึงการช่วยเหลือภายใต้พระราชกำหนดให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท, โครงการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และโครงการสนับสนุน SMEs รายย่อยผ่านกองทุนส่งเสริม SMEs และ ธพว. เป็นต้น

ทั้งนี้ แนวทางให้แบงก์นำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริม SMEs เกิดขึ้นสมัยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ เป็น รมว.คลัง ที่เห็นว่าการจัดหาแหล่งเงินที่มีความต่อเนื่องให้แก่กองทุนส่งเสริมSMEs ดังกล่าวจะช่วยให้กองทุนมีแหล่งเงินในการช่วยเหลือฟื้นฟู SMEs ที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอนุมัติหลักการจาก ครม.ไปแล้ว

“แต่ต่อมากฤษฎีกา คณะที่ 3 พิจารณาแล้วเห็นว่าแนวทางดังกล่าวจะมีผลกระทบ จึงขอให้ รมว.คลังทบทวนเรื่องดังกล่าว ซึ่งต่อมามีการเปลี่ยน รมว.คลัง มาจนกระทั่งถึง รมว.คลังคนปัจจุบัน จึงมีการเสนอ ครม.ขอถอนเรื่องดังกล่าวโดยให้ความเห็นว่า ปัจจุบันความจำเป็นในการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหา โดยให้แบงก์นำส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริม SMEs ตามร่างกฎหมายที่เคยเสนอก็มีความจำเป็นลดลงแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐมีหลายมาตรการเข้าไปดูแลเอสเอ็มอี” แหล่งข่าวกล่าว