ดอลลาร์ทรงตัว รอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก “โจ ไบเดน” คืนนี้

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Jo Yong-Hak/File Photo

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ขณะรอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก “โจ ไบเดน” คืนนี้ ขณะที่เงินบาท มี flow ของผู้ค้าทองคำ และกระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าในตลาดพันธบัตรของไทย

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/1) ที่ระดับ 29.96/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (13/1) ที่ระดับ 30.02/03 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังคงปรับตัวในกรอบแคบ เนื่องจากตลาดยังคงรอดูความคืบหน้าการประกาศมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาชาวสหรัฐและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐของนายโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ในวันนี้ (14/1) ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564

ขณะเดียวกันความขัดแย้งทางการเมืองยังคงเป็นที่น่ากังวล หลังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ มีมติถอดถอนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากตำแหน่งในข้อหายั่วยุให้ผู้ประท้วงบุกรับสภาสหรัฐ ทำให้นายทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐ ที่ถูกยื่นถอดถอนถึง 2 ครั้ง

โดยขั้นตอนต่อไปจะต้องส่งเรื่องต่อไปยังวุฒิสภาเพื่อเริ่มกระบวนการไต่สวนเพื่อตัดสินว่าประธานาธิบดีสหรัฐ มีความผิดหรือไม่ นอกจากนี้เมื่อคืนนี้ (13/1) มีประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐ เดือนธันวาคม ที่ระดับ 0.4% ขยายตัวจากเดือนพฤศจิกายนที่ระดับ 0.2%

ในส่วนของค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อวันพุธ อย่างไรก็ดีในช่วงสายค่าเงินบาทอ่อนค่ากลับขึ้นมา ซึ่งมาจาก flow ของผู้ค้าทองคำ และระหว่างวันนี้เริ่มมีกระแสเงินทุนจากต่างชาติไหลเข้าในตลาดพันธบัตรของไทยอีกด้วย ทำให้ในช่วงเย็นบาทเริ่มแข็งค่าลงมาใกล้ระดับเปิดตลาด

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.98-30.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.99/30.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/1) ที่ระดับ 1.2170/71 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/1) ที่ระดับ 1.2187/89 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลง เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการล็อกดาวน์ของประเทศต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แม้ว่าเมื่อวานนี้ (13/1) มีการประกาศดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมของยูโรโซน เดือนพฤศจิกายน ออกมาที่ระดับ 2.5% เทียบปีต่อปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมที่ระดับ 2.3% และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 0.2% ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2134-1.2171 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2166/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (14/1) ที่ระดับ 103.84/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันพุธ (13/1) ที่ระดับ 103.8/85 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนยังคงปรับตัวในกรอบแคบ ขณะที่นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเพิ่ม 7 จังหวัดเพิ่มเติมรวมถึงโอซาก้าและไอจิ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศ

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.77-104.19 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 103.97/99 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเยอรมนี ประจำไตรมาส 3 (14/1), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (14/1), ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหราชอาณาจักร ประจำไตรมาส 3 (15/1), ดัชนียอดขายค้าปลีกของสหรัฐเดือนธันวาคม (15/1), รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือนมกราคม (15/1)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.20/0.30 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 1.30/2.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ