โอกาสธุรกิจหลัง “โควิด” ผ่านห่วงโซ่มูลค่าโลก

 

คอลัมน์ Smart SMEs
ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

อดทนกันหน่อยนะคะ สำหรับการก้าวผ่านวิกฤตโควิดรอบ 2 
ไปด้วยกัน ดั่งคำกล่าวที่ว่า “ฟ้าหลังฝน ย่อมงดงามเสมอ”

ประเทศไทยจัดเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสินค้าในห่วงโซ่มูลค่าโลกที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของ megatrend ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของความต้องการสินค้า ความไม่แน่นอนจากการกระจุกตัวของแหล่งผลิต นโยบายการค้าและเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลให้ห่วงโซ่มูลค่าโลกในอนาคตสั้นลง กระจายตัวมากขึ้น และเชื่อมโยงภายในภูมิภาคมากขึ้น (shorter, more diversified and more regionalized)

ซึ่งอ้างอิงจากวิจัยกรุงศรีประเมินว่าไทยจะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตมากขึ้น แม้ว่าตำแหน่งการผลิตจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง โดยภาคบริการจะมีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเสมือนเป็นวัตถุดิบในการเพิ่มมูลค่าสินค้าของภาคอุตสาหกรรม และมองว่าไทยจะมีความเชื่อมโยงทางการค้าภายในภูมิภาคเพิ่มสูงขึ้นด้วย

การที่ไทยจะมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่ามากขึ้น มองว่าเป็นโอกาสดีต่อภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งการที่ตำแหน่งการผลิตของไทยส่วนใหญ่แม้ยังอยู่ที่อุตสาหกรรมปลายน้ำเช่นเดิม แต่กลับทำให้เรายังคงได้เปรียบจากการผลิตสินค้าที่มีความชำนาญอยู่ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม การได้ประโยชน์อาจมากน้อยแตกต่างในแต่ละอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับระดับการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่และความสามารถในการส่งออกของอุตสาหกรรมนั้น ๆ โดยอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเสียประโยชน์ เช่น เกษตร เหมืองแร่

ทั้งนี้ ภาคบริการนับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนใหม่ทางเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการเติบโตด้านคุณค่าได้ เนื่องจากช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเชื่อมโยงระหว่างภาคการผลิตและภาคบริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยพบว่าปัจจุบันภาคบริการไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแค่การเป็นสินค้าขั้นปลายที่ควบคู่กับสินค้าชนิดหนึ่ง ๆ เช่น การบริการหลังการขาย การรับประกัน การขนส่ง แต่ในโลกที่ความสำคัญของภาคบริการมีมากขึ้น เราจึงเห็นความก้าวหน้าของนวัตกรรมในการผลิตสินค้าที่เกิดจากภาคการวิจัยและพัฒนา การขนส่ง การโทรคมนาคม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้านั้น ๆ ได้

อีกทั้งแนวโน้มห่วงโซ่การผลิตที่สั้นขึ้นและซับซ้อนน้อยลง ทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางการค้าในภูมิภาคมากขึ้น จากการพัฒนาของเทคโนโลยีที่ลดความแตกต่างของการผลิตในแต่ละพื้นที่ ความเสี่ยง รวมถึงกฎระเบียบทางการค้าที่เพิ่มขึ้น รสนิยมของผู้บริโภคมีความคล้ายคลึงกัน ผู้ผลิตจึงมีแนวโน้มเลือกสถานที่ผลิตสินค้าใกล้กับตลาดมากยิ่งขึ้น

ตลาดภายในภูมิภาคจึงได้รับความสนใจมากขึ้น ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและกระแสการพึ่งพาตลาดภายในภูมิภาค นับเป็นโอกาสของไทยทั้งในแง่ของการผลิต การค้า และการลงทุน

ซึ่งหากผู้ประกอบการเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว สำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อเตรียมความพร้อม หรือแม้กระทั่งพลิกโฉมธุรกิจ (transformation) ของท่าน เพื่อให้ได้รับโอกาสจากแนวโน้มใหม่ของห่วงโซ่มูลค่าโลกนี้