ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า จากความหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

ดอลลาร์สหรัฐ
REUTERS/Marcos Brindicci/File Photo

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าจากความหวังเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ ส่วนเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 29.9-30.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 18-22 มกราคม 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (18/1) ที่ระดับ 30.09/10 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (15/1) ที่ระดับ 29.96/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักเนื่องจากนักลงทุนเข้าถือครองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐ ที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อคืนวันศุกร์ (15/1) กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานว่ายอดค้าปลีกลดลง 0.7% ในเดือนธันวาคม ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยการร่วงลงของยอดค้าปลีกได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์และภาคครัวเรือนมีรายได้ลดลงเนื่องจากชาวอเมริกันจำนวนมากประสบภาวะตกงาน

นอกจากนี้ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนได้ระบุว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 79.2 ในเดือนมกราคม โดยลดลงจากระดับ 80.7 เมื่อเดือนธันวาคม ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าลง เนื่องจากการที่นางเจเน็ต เยลเลน ว่าที่รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสอนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

โดยนางเยลเลนได้แถลงต่อคณะกรรมการด้านการเงินของวุฒิสภาสหรัฐเมื่อคืนวันอังคาร (19/1) ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่นำเสนอโดยนายโจ ไบเดน จะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่จะทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับความเสี่ยงด้านหนี้สิน พร้อมกับเรียกร้องให้สภาคองเกรสดำเนินการเพิ่มขึ้นอีก มิฉะนั้นเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับการถดถอยที่ยาวนานและรุนแรงกว่า และอาจจะรับความเสียหายในระยะยาว

ทางด้านนายโจ ไบเดน ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชื่อว่า “American Rescue Plan” วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์/ชั่วโมง ในปัจจุบัน สู่ระดับ 15 ดอลลาร์ การเพิ่มวงเงินในการส่งเช็คเงินสดให้แก่ชาวอเมริกันเป็นคนละ 2,000 ดอลลาร์ จากเดิมที่ได้คนละ 600 ดอลลาร์ และเพิ่มวงเงินช่วยเหลือคนตกงานเป็น 400 ดอลลาร์/สัปดาห์ โดยจะขยายโครงการช่วยเหลือดังกล่าวไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายนปีนี้ โดยตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังสหรัฐมีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการของนายโจ ไบเดน

นอกจากนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหาร ให้นำสหรัฐกลับเข้าสู่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศซึ่งหลายประเทศได้ทำร่วมกันเมื่อปี 2558 และลงนามในคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีเพื่อให้สหรัฐกลับเข้าเป็นสมาชิกองค์กรอนามัยโลก (WHO) อีกครั้ง หลังสหรัฐถอนตัวออกไปในสมัยของอดีตประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีการเปิดเผย กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผยว่าตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 5.8% ในเดือนธันวาคมสู่ระดับ 1.669 ล้านยูนิต สูงกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 1.560 ล้านยูนิต ขณะที่ตัวเลขผู้ขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 900,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะลดลง 26,000 รายจากสัปดาห์ก่อน แต่ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าระดับ 665,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในช่วงปี 2550-2552 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วงสัปดาห์นี้ เมื่อวันอังคาร (19/1) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โครงการ “เราชนะ” ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยจะจ่ายเงินเยียวยา 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท ให้กับแรงงานที่อยู่นอกระบบ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกร และผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และจะใช้งบประมาณ 2.17 แสนล้านบาท

โดยค่าเงินบาทยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นหลังผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวได้ 4% และปี 2565 จะขยายตัว 4.7% จากที่หดตัวเป็นติดลบ 6.5% ในปี 2563 เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19

ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์ที่ผานมาค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.9-30.14 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 29.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (18/1) ที่ระดับ 1.2074/78 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ ที่ระดับ 1.2135/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร นักลงทุนยังคงกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในยุโรป ล่าสุดรัฐบาลฝั่งเศสประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเป็นเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันเสาร์ (16/1) ที่ผ่านมา เนื่องจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในฝรั่งเศส

ส่วนสหราชอาณาจักรก็ยังอยู่ภายใต้การล็อกดาวน์ตั้งแต่ 5 มกราคมที่ผ่านมา โดยนายโดมินิก ร้าบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรได้แสดงความหวังว่าอาจจะผ่อนคลายมาตรการบางส่วนได้ในเดือนมีนาคมนี้ โดยค่าเงินยูโรยังปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจเมื่อคืนวันอังคาร (19/1) เปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมัน 61.8 ในเดือนมกราคม  ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 55.0 ในเดือนธันวาคม และปรับตัวเพิ่มมากกว่าที่คาดการณ์ที่ 60.0 อย่างไรก็ตาม นางอังเกลา แมร์เคล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และบรรดาผู้ว่าการรัฐต่าง ๆ ของเยอรมนี มีมติเห็นพ้องร่วมกันว่า เยอรมนีจะขยายเวลาการใช้มาตรการล็อกดาวน์ไปจนถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ จากเดิมซึ่งมีกำหนดสิ้นสุดในวันที่ 31 มกราคม โดยมติดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

สำหรับการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0% ซึ่งเป็นลำดับต่ำสุดเป็นประวัติการและคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB ที่ระดับ -0.5% รวมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ระดับ 0.25% โดย ECB ระบุว่าจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวจนกว่าอัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นสู่เป้าหมายของ ECB ซึ่งระบุให้ “อยู่ใกล้ แต่ไม่เกิน 2%”

นอกจากนี้ ECB มีมติคงวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme (PEPP) ที่ระดับ 1.85 ล้านล้านยูโร โดยจะซื้อพันธบัตรตามโครงการดังกล่าวจนถึงเดือนมีนาคมปี 2565 หรือจนกระทั่ง ECB พิจารณาว่าวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ด้านนางคริสติน ลาการ์ด ประธาน ECB เตือนว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ที่เพิ่มขึ้นและการล็อกดาวน์จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะใกล้ และระบุว่า ECB เตรียมที่จะให้การสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมหากจำเป็น

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบ 1.2052-1.2177 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 1.2170/73 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (18/1) ที่ระดับ 103.76/77 เยน/ดอลลาร์สหรับ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (18/1) ที่ระดับ 103.66/67 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าลงของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ จากการที่นักลงทุนเข้าถือเงินเยนในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ขณะที่การประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ทาง BOJ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% เท่าเดิม และยังมีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ โดย BOJ คาดว่าในปีงบประมาณ 2564 เศรษฐกิจจะขยายตัว 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือนตุลาคม 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 3.6%

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 103.31-104.08 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (22/1) ที่ระดับ 103.57/59 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ