แพ็กเกจแจกเงินก๊อก 2 อุ้มมนุษย์เงินเดือน-รับมือเลย์ออฟ

รัฐบาลกวาดเงินทุกบัญชี สำรองใส่แพ็กเกจเยียวยาประชาชนก๊อก 2 เดือนเมษายน หลังจบโครงการ “คนละครึ่ง” โฟกัสช่วยค่าครองชีพผู้อยู่ในระบบประกันสังคม มนุษย์เงินเดือน รองรับกลุ่มถูกลดค่าจ้าง เลย์ออฟ กั๊กยอดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้แล้ว 2.5 แสนล้าน อนุมัติเงินแล้วไม่ทำโครงการริบคืน “ประยุทธ์” สั่งเบรกโปรเจ็กต์มหาดไทย 4.5 หมื่นล้าน เกลี่ยคืนจากกระทรวงเกษตรฯอีกหมื่นล้าน ด้านสาธารณสุขก็มียอดเหลือ 3 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ร่วมกับทีมเศรษฐกิจของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ได้เตรียมจัดทำข้อมูลแพ็กเกจใหม่ เป็นก๊อกที่ 2 ในปีนี้ เพื่อเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่ของไวรัสโควิด-19

โฟกัสช่วยมนุษย์เงินเดือน

ซึ่งขณะนี้มีวงเงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจเหลืออยู่ประมาณ 2.5 แสนล้านและในส่วนของสาธารณสุขอีก 3 หมื่นล้าน

แพ็กเกจเยียวยาเศรษฐกิจรอบใหม่ จะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2564 เจาะจงให้กับกลุ่มมนุษย์เงินเดือน พนักงานบริษัทและผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ที่บางส่วนถูกลดเงินเดือน และมีการลดการจ่ายค่าจ้าง และอาจจะถูกเลิกจ้าง เลย์ออฟ ให้มีเงินเพิ่มเพื่อการครองชีพ

อนุมัติแล้วไม่จ่ายยึดเงินคืน

โดยงบประมาณส่วนหนึ่งเกลี่ยมาจากในส่วนของการเยียวยาเกษตรกร ของกระทรวงเกษตรฯ และวงเงินกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่บริหารจัดการโดยคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ มีสภาพัฒน์เป็นฝ่ายเลขานุการ จากกรอบ 4 แสนล้านซึ่งมีการอนุมัติไป 1.4 แสนล้าน และหากมียอดเงินรายการใดที่ไม่มีการเบิกจ่ายภายในเดือนมีนาคม 2564 ก็จะตัดกลับเข้ามาในส่วนนี้

เบรกมหาดไทย 4.5 หมื่นล้าน

นอกจากนี้ยังมีวงเงินที่บริหารจัดการในระดับพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านกระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่ออัดเม็ดเงินลงสู่พื้นที่ชนบท ขณะนี้จัดทำโครงการและวางกรอบงบประมาณไว้แล้ว 4.5 หมื่นล้าน ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้พิจารณารับทราบแล้ว แต่เห็นว่าควรชะลอการใช้งบประมาณในส่วนนี้ไว้ก่อน เพื่อสำรองวงเงินไว้ใช้ในแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาในช่วงต้นเดือนเมษายน

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจจะเก็บตัวเลขการบริโภคภาคเอกชน และประเมินเม็ดเงินที่หมุนในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งการลงทุนภาครัฐ ว่าจะมีแรงขับเคลื่อนไปสู่ไตรมาส 2 เพียงพอหรือไม่ คาดว่าสิ้นเดือนมีนาคมก็จะเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจภาพรวม แล้วจะเสนอแพ็กเกจรอบใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์

สำหรับผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม ณ เดือนธันวาคม 2563 มีจำนวน 16.43 ล้านคน แบ่งเป็นลูกจ้างที่ทำงานในสถานประกอบการตามมาตรา 33 จำนวน 11.12 ล้านคน ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จำนวน 1.78 ล้านคน และบุคคลทั่วไปที่มีประกันตนตามมาตรา 40 หรือบุคคลทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 65 ปี ทำงานโดยไม่มีนายจ้าง ประมาณ 3.5 ล้านคน

“ประยุทธ์” ร้อนใจถก รมว.คลัง

ช่วงเช้าวันที่ 22 มกราคม 2564 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประชุมร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และ รมว.พลังงาน นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ และนายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เข้าพบเพื่อหารือมาตรการเศรษฐกิจ ประมาณ 2 ชั่วโมง

ชง ครม.อนุมัติลด-ยืดจ่ายภาษี

นายกรัฐมนตรีระบุว่า ได้หารือมาตรการด้านภาษี เพื่อลดภาระรายจ่ายให้กับพี่น้องประชาชนกลุ่มต่าง ๆ และผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง, ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่อยู่อาศัย, ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเงินได้ เป็นต้น

โดยมาตรการทั้งหมดนี้ จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในวันอังคารหน้า (26 ม.ค.)

นายกรัฐมนตรีย้ำว่า “ขอให้พี่น้องประชาชนมั่นใจว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามหามาตรการช่วยเหลือในรูปแบบลดรายจ่าย ควบคู่กับการเพิ่มรายได้ เช่น โครงการ ‘เราชนะ’ หรือ ‘คนละครึ่ง’ ที่มีความก้าวหน้า เป็นไปได้ด้วยดี”

อาคมให้รอดูมาตรการเข้า ครม.

ก่อนหน้านี้นายอาคม รมว.คลัง ระบุถึงมาตรการภาษีเพื่อการลดรายจ่ายว่า เตรียมเสนอให้ ครม.พิจารณาขยายเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ออกไปอีก 1 ปี เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ถือครองทรัพย์สิน รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 0.01% สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขยายเวลามาตรการเดิมอีก 1 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ กระตุ้นให้คนที่มีกำลังซื้อที่อยากจะซื้อบ้าน

นายอาคมเปิดเผยภายหลังหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ถึงมาตรการภาษีที่จะเข้าที่ประชุม ครม.วันอังคารที่ 26 มกราคม 2564 ว่า “เดี๋ยวคอยดู” และกล่าวถึงข้อจำกัดของประชาชนที่ไม่มีโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนต้องการรับเป็นเงินสดหรือระบบคูปอง จากโครงการ “เราชนะ” ว่าเป็นไปตามที่รองนายกฯสุพัฒนพงษ์ได้พูดไปแล้ว และให้รอติดตามมาตรการและรายละเอียดการรับสิทธิใช้เงิน

คลังย้ำ “เราชนะ” ถึงฐานราก

ด้านนายพรชัยกล่าวถึงเกณฑ์การจ่ายเงินในโครงการ “เราชนะ” ว่า ยังคงหลักการเดิมเพื่อให้เงินลงสู่ฐานรากจริง ๆ ร้านค้าขนาดเล็กได้แน่ ๆ แต่ถ้าให้เป็นเงินสดจะไม่มีอะไรการันตีว่า เงินจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจฐานรากจริง ๆ

เมื่อถามว่า ประชาชนที่มีข้อจำกัดเรื่องการใช้เงินผ่านสมาร์ทโฟน หรือไม่มีสมาร์ทโฟนจะแก้ปัญหานี้อย่างไร นายพรชัยกล่าวว่า เราพยายามดูว่า ตอนนี้คนที่มีปัญหาเรื่องการใช้โทรศัพท์ที่เป็นสมาร์ทโฟนมีจำนวนพอสมควร เช่น โครงการ “คนละครึ่ง” ประชาชนที่มีอายุเกิน 60 ปีมีการใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือล้านกว่าคน น่าจะเป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม เข้าใจปัญหาในเรื่องข้อจำกัดของประชาชน ซึ่งต้องรอดูสักพักหนึ่งก่อน ให้นิ่ง ๆ เพื่อดูว่า ตกลงแล้วปัญหาคืออะไรกันแน่

เมื่อถามว่าได้เข้าไปตรวจสอบดูหรือยังว่า ประชาชนที่มีปัญหาข้อจำกัดดังกล่าวมีจำนวนกี่คน นายพรชัยกล่าวว่า คนที่มีโทรศัพท์ที่ไม่ใช่สมาร์ทโฟนนั้น สมมุติว่า คนกลุ่มนี้มีรายได้ไม่มาก ซึ่งมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่แล้ว เขาก็ได้รับเงินทันที ซึ่งสามารถใช้เงินในร้านธงฟ้าประชารัฐ และอยู่ระหว่างขยายระบบให้สามารถใช้จ่ายได้ในร้านค้าที่ร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” และโครงการ “เราชนะ” ได้ ซึ่งต้องให้ทันก่อนจ่ายเงินงวดแรกในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564