“พร้อมเพย์-คิวอาร์โค้ด”ฉุดสาขาธนาคารลดต่อเนื่อง

ธปท.เผยข้อมูล 9 เดือนแรกปี 2560 สาขาแบงก์ยังลดลงต่อเนื่อง พบลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 192 สาขา “กรุงไทย-กสิกรฯ-ธนชาต” ฮวบมากสุด “ไทยพาณิชย์” คาดปีหน้าตู้เอทีเอ็มลดลงอีก 20% ชี้สาขา-ตู้เอทีเอ็มลดเกิดจาก “พร้อมเพย์-คิวอาร์โค้ด” คาดเห็นผลกระทบชัดขึ้นปลายปีหน้า ด้านสมาคมแบงก์เผยธุรกรรมพร้อมเพย์พุ่ง 410,000 ครั้ง/วัน คาดต้นปีเปิดใช้คิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ดันยอดโอนเงินทะยานอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับตัวเลขสาขาของธนาคารพาณิชย์งวด 9 เดือน ปี 2560 พบว่า สาขาแบงก์ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้น ก.ย. 2560 ลดลงมาอยู่ที่ 6,841 สาขา หรือลดลง 192 สาขา จากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่มีสาขา 7,033 สาขา และนับจากสิ้นปี 2559 ถึงสิ้น ก.ย. 2560 ลดลงไป 175 สาขา

โดยธนาคารกรุงไทยมีสาขาลดลงมากที่สุด 79 สาขา เหลืออยู่ที่ 1,136 สาขา จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มี 1,215 สาขา รองลงมาคือ ธนาคารกสิกรไทย ลดลง 73 สาขา มาอยู่ที่ 1,049 สาขา จาก 1,122 สาขา และธนาคารธนชาต ลดลง 69 สาขา มาอยู่ที่ 531 สาขา จากช่วงเดียวกันปีก่อนมีอยู่ที่ 600 สาขา

นางอภิพันธ์ เจริญอนุสรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดปฏิบัติการธนาคารพาณิชย์ (SCB) กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นประชาชนหันมาทำธุรกรรมบนดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ “พร้อมเพย์” กับ “คิวอาร์โค้ด” ที่เพิ่มช่องทางการชำระเงิน ทำให้โอนเงินได้สะดวกสบาย สามารถทดแทนการใช้เงินสดได้ ดังนั้นจึงเห็นสาขาแบงก์และตู้เอทีเอ็มมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าผลกระทบนี้จะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2561 เป็นต้นไป

“การทำธุรกรรมหน้าสาขา หรือผ่านตู้เอทีเอ็มจะลดลงในอนาคต โดยเฉพาะตู้เอทีเอ็มที่คาดว่าจะลดลงราว 20% จากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 10,000 ตู้ คือตู้เอทีเอ็มจะลดความสำคัญ จากการที่ประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมไปทำธุรกรรมบนมือถือ บนอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันนี้ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่เห็นในเมืองเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯมากกว่าต่างจังหวัด” นางอภิพันธ์กล่าว

นายฐากร ปิยะพันธ์ ผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และประธานคณะเจ้าหน้าที่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส หรือกรุงศรี คอนซูมเมอร์ กล่าวว่า ทุกวันนี้จะเห็นทรานแซ็กชั่นที่เกิดจากโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และเริ่มเห็นการทำธุรกรรมที่สาขา กับตู้เอทีเอ็มลดลง แต่ยังไม่ชัดเจนนัก อย่างไรก็ดี เมื่อประชาชนคุ้นเคยกับพร้อมเพย์และคิวอาร์โค้ดมากขึ้น จะเห็นผลกระทบต่อสาขาแบงก์ กับตู้เอทีเอ็มที่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นไป

“ตอนนี้ในส่วนของสาขา เริ่มเห็นทรง ๆ ไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาก เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการย้าย มีการปิดสาขากันไปแล้ว ตอนนี้คือย้ายไปสู่จุดใหม่ที่มีทรานแซ็กชั่นมากขึ้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่จะเห็นอย่างมีนัยสำคัญคือ ตู้เอทีเอ็มที่อาจจะลดลง” นายฐากรกล่าว

ด้านปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันยังเห็นการปรับลดของสาขาแบงก์ต่อเนื่อง เพราะการมาของช่องทางดิจิทัลทั้งหลายที่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะพร้อมเพย์ที่เริ่มมีผลกระทบต่อค่าธรรมเนียมของธนาคารในปีนี้แล้ว

นายยศ กิมสวัสดิ์ ประธานสำนักงานระบบการชำระเงิน (PSO) สมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณธุรกรรมโอนเงินผ่านพร้อมเพย์สูงสุดอยู่ที่ 410,000 ครั้ง/วัน โดยตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือน ก.พ. 2560 ที่ผ่านมา มีมูลค่าการโอนเงินสะสมที่ 170,000 ล้านบาท โดยมีผู้ลงทะเบียนพร้อมเพย์แล้วกว่า 35 ล้านยูสเซอร์ (ผู้ใช้งาน) แบ่งเป็นผู้ลงทะเบียนผูกกับเลขบัตรประจำตัวประชาชน 25 ล้านยูสเซอร์ และลงทะเบียนผูกกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก 9 ล้านยูสเซอร์

“เดิมเราคิดว่าเมื่อเริ่มใช้พร้อมเพย์ ธุรกรรมบริการโอนเงินรายย่อยระหว่างธนาคาร (ORFT) จะน้อยลง แต่ปัจจุบันยอด ORFT กลับไม่ลดลง แต่เห็นทิศทางว่าการกดเงินสดจากตู้เอทีเอ็มลดลงแทน และต้นปีหน้า เมื่อมีพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด (QR code) จะทำให้ธุรกรรมพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว จากปัจจุบันที่มีการทำธุรกรรมอยู่ที่ 6-7 ล้านรายการต่อเดือน” นายยศกล่าว