กสิกร คาดเฟดคงนโยบายการเงิน รอผลักดันมาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเฟดคงนโยบายการเงิน รอผลักดันมาตรการกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์

วันที่ 25 ม.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของสหรัฐ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 26-27 มกราคม 2564 นี้ โดยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามเดิม

และน่าจะไม่มีการประกาศใช้เครื่องมือผ่อนคลายทางการเงินอื่น ๆ เพิ่มเติมในการประชุม FOMC รอบนี้ โดยคาดว่า แม้เฟดจะส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง แต่จะยังย้ำถึงความจำเป็นของการเร่งผลักดันมาตรการฝั่งการคลังจากรัฐบาลใหม่ของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เพื่อให้ทั้งนโยบายการเงินการคลังมีส่วนช่วยจำกัดความเสี่ยงและหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ผลกระทบจากการปรับสูงขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดจะส่งสัญญาณเข้าซื้อพันธบัตรในอายุที่ยาวมากขึ้น เพื่อจำกัดกรอบการปรับตัวขึ้นของต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคครัวเรือนและธุรกิจ

ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อเนื่องต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ สำหรับแนวโน้มในระยะข้างหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตัวแปรสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งจะมีผลต่อการกำหนดท่าทีของเฟดจะอยู่ที่ 2 เรื่อง ได้แก่ 1) ความสามารถในการควบคุมการระบาดและความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 และ 2) ความรวดเร็วและความสำเร็จของรัฐบาลใหม่ของ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการผลักดันมาตรการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในสภาคองเกรส

สำหรับผลต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะไม่มีผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย แต่คงต้องยอมรับว่า ตัวแปรจากฝั่งสหรัฐฯ คงมีผลต่อความเคลื่อนไหวของทิศทางค่าเงินบาทและอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทย

โดยอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจมีจังหวะทยอยขยับขึ้นตามทิศทางตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากแนวโน้มปริมาณการออกพันธบัตรรัฐบาลของไทยที่จะสูงต่อเนื่องในปีนี้ ขณะที่แม้เงินบาทจะยังมีแนวโน้มแข็งค่า แต่กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทอาจผันผวนมากขึ้น เพราะเงินดอลลาร์ฯ อาจได้รับแรงนหนุนในบางช่วงในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางความเสี่ยงจากฝั่งสหรัฐฯ