เกณฑ์ “ตัดหนี้สูญ” ใหม่เริ่มพ.ค. “แบงก์-เอเอ็มซี” ขานรับ “ผ่อนภาระต้นทุน”

ธนาคารรัฐ-เอกชน แห่อุ้มลูกหนี้รายย่อย-ออกมาตรการเฟส 2

“แบงก์-บริษัทบริหารหนี้” ประสานเสียงขานรับสรรพากรแก้กฎกระทรวงปรับปรุงเรื่อง “จำหน่ายหนี้สูญ” ชี้ช่วยลดขั้นตอน/ระยะเวลาตัดหนี้สูญได้เร็วขึ้น เหตุมีการขยับเพดานตัดหนี้สูญเป็น 2 ล้านบาท จากเดิมไม่เกิน 5 แสนบาทต้องฟ้องศาลให้เรียบร้อยก่อนจึงตัดหนี้สูญได้ ระบุช่วยลด “ภาระภาษี-ต้นทุนติดตามทวงหนี้” ฟากอธิบดีสรรพากรยันรัฐไม่สูญเสียรายได้ หนุนกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ “ง่าย-สะดวก” ขึ้น มั่นใจบังคับใช้ทัน พ.ค.นี้

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโย กรุ๊ป (CHAYO) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป และของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันนั้น มองว่าจะช่วยให้ตัดหนี้สูญได้เร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ฟ้องร้องจนศาลได้มีคำพิพากษา หรือเฉลี่ยทรัพย์ในกรณีฟ้องล้มละลาย ทำให้นำมาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเร็วขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์ คือ 1.ช่วยลดภาระภาษีของกิจการที่มีหนี้สูญ มูลหนี้ระหว่าง 2 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท และ 2.ช่วยลดต้นทุนในการติดตามทวงถามหนี้ในช่วง 2 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท

“จะมีผลต่อภาษีและค่าใช้จ่ายที่จะลดลง เพราะจากเดิมจะตัดหนี้สูญได้จะต้องดำเนินการฟ้องร้องถึงที่สุด ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน และเสียค่าใช้จ่ายสูง บางรายเงินต้นอาจไม่คุ้ม ถือเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ หรือสถาบันการเงิน แต่ตามเกณฑ์ใหม่สามารถตัดหนี้สูญได้เลย เพียงแต่ต้องมี notice (แจ้งให้ทราบล่วงหน้า) ว่า ได้มีการดำเนินการติดตามทวงถามหนี้จนถึงที่สุดแล้ว”

ทั้งนี้ นายสุขสันต์กล่าวด้วยว่า ผู้ที่รับประโยชน์จากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเป็นกิจการที่มีหนี้สูญในช่วง 2 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท และมีภาระภาษีที่ต้องเสีย ส่วนการขายหนี้ในส่วนของสถาบันการเงินอาจจะไม่กระทบมากนัก เนื่องจากระยะเวลาการเป็นหนี้สูญยังคงเหมือนเดิม แต่สถานะงานคดีที่ขายอาจเปลี่ยนไป เช่น ต่ำกว่า 2 แสนบาท อาจจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลแล้ว หรือในช่วง 2 แสนบาทถึง 2 ล้านบาทอาจจะแค่ระหว่างฟ้องก็สามารถหยุดการฟ้องได้ เป็นต้น

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เกณฑ์ใหม่จะช่วยให้ธนาคารสามารถลดหรือตัดค่าใช้จ่ายจากหนี้สูญได้เร็วขึ้น จากเดิมต้องฟ้องร้องลูกหนี้ก่อน ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนาน และบางครั้งมูลหนี้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างฟ้องร้อง เช่น หนี้บัตรเครดิต วงเงินไม่สูงมากหลักหมื่นถึงแสนบาท แต่จะต้องดำเนินการฟ้องร้องติดตาม เสียค่าทนาย และยังใช้ระยะเวลาการดำเนินคดีกว่าจะแล้วเสร็จ บางราย 2-3 ปี ซึ่งไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เป็นต้น

ดังนั้น หากเกณฑ์ใหม่ออกมาบังคับใช้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายการดำเนินคดี ค่าใช้จ่ายทางภาษี และลดขั้นตอนในการตัดหนี้สูญได้ทันที โดยเฉพาะหนี้ที่วงเงินไม่สูงมากค่อนข้างจะได้ประโยชน์และเป็นทางออกที่ดี ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งผู้บริโภค สถาบันการเงินและศาล เนื่องจากจำนวนคดีในศาลจะลดลงอย่างมากตามกรอบเพดานวงเงินที่กฎหมายขยายเพิ่มเติมไว้

“ถ้ามูลหนี้ก้อนเล็ก ๆ ถือว่าเป็นทางออกที่ดี เพราะบางกรณีไม่คุ้มค่าที่จะฟ้องร้อง บางทีค่าใช้จ่ายสูงกว่ามูลหนี้โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิต ซึ่งทำให้ศาลมีปริมาณจำนวนคดีเพิ่มขึ้น ถือว่ามีผลดีกับแบงก์ ผู้บริโภค และศาลด้วย”

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงดังกล่าวจะช่วยเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้้โดยทำให้กระบวนการง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับเกณฑ์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 เรื่องเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีนิติบุคคลของกรมสรรพากร

ทั้งนี้ ยืนยันว่ากฎกระทรวงที่แก้ไขจะบังคับใช้ได้ทันรอบการยื่นภาษีนิติบุคคลปีบัญชี 2563 ที่ต้องยื่นในเดือน พ.ค. 2564 นี้