“กองทุนหุ้นจีน” สุดฮอต “รีเทิร์นแจ่ม” บลจ.เชียร์ลงทุน

หุ้นกู้-แบงก์-ตลาดหุ้น

กอง FIF สุดฮอต ! คนไทยแห่ลงทุนรับผลตอบแทนสูง “มอร์นิ่งสตาร์” ชี้ปี’63 โตเกือบ 30% สวนทางอุตสาหกรรมกองทุนที่หดตัว 7.3% เผย “กองหุ้นจีน”ได้รับความนิยมสูงสุดโต 185% ขณะที่ “กองทุนหุ้นเทคโนโลยี” ผลตอบแทนดีสุดเกือบ 50% เตือนปีนี้ผลตอบแทนอาจไม่ดีเท่าปีก่อน “บลจ.ทิสโก้” ปรับกลยุทธ์ปี’64 โฟกัสตลาดจีนมากขึ้น-ประเมินเศรษฐกิจฟื้นเร็ว จ่อออกกองหุ้นก่อนเทศกาลตรุษจีนนี้ ฟาก “บลจ.บัวหลวง” แนะลูกค้ากระจายการลงทุนไปต่างประเทศต่อเนื่องในปีนี้เกาะ “เมกะเทรนด์” ปั้นผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

นางสาวชญานี จึงมานนท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า กองทุนรวมต่างประเทศ (FIF) ได้รับความนิยมมากในปี 2563 ที่ผ่านมา โดยแต่ละกองทุนสร้างผลตอบแทนที่ดี แม้ว่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมจะหดตัวลง 7.3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า (YOY) มาอยู่ที่ 4 ล้านล้านบาท แต่กองทุนประเภท FIF กลับเติบโตสวนทางตลาด โดยมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวม 8.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.5% YOY

สำหรับกอง FIF ที่เติบโตมากที่สุด ได้แก่ กองทุนหุ้นจีน (China Equity) โต 185.1% มีเม็ดเงินไหลเข้าอันดับ 1 ที่ 6 หมื่นล้านบาท, กองทุนหุ้นต่างประเทศ (Global Equity) 139.9% เงินไหลเข้า 5 หมื่นล้านบาท และกองทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ (Global Bond) 28.3% เงินไหลเข้า 2.17 หมื่นล้านบาท ขณะที่กองทุนหุ้นเทคโนโลยี (Global Technology) ให้ผลตอบแทนดีที่สุดที่ 48.97% กองทุนหุ้นต่างประเทศ 23.73% ตามด้วยกองทุนหุ้นเอเชียแปซิฟิกไม่รวมญี่ปุ่น (Asia Pacific ex-Japan Equity) 23.46%

“นักลงทุนเริ่มหันไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยทำผลงานได้ไม่ดีนัก รวมถึงในต่างประเทศมีกลุ่มธุรกิจที่ในตลาดบ้านเราไม่มี เช่น กลุ่มเทคโนโลยี ก็ยังเป็นกลุ่มหุ้นที่มีโอกาสเติบได้ในระยะยาว” นางสาวชญานีกล่าว

สำหรับแนวโน้มในปี 2564 นางสาวชญานีกล่าวว่า ผู้ที่จะลงทุนในกองทุน FIF อาจต้องระมัดระวัง เพราะผลตอบแทนที่ขึ้นมาหวือหวา ก็อาจปรับลงอย่างรุนแรงได้

อย่างกรณีกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่เคยปรับขึ้นได้ดีเป็นอันดับต้น ๆ ในช่วง 2-3 ปีย้อนหลัง แต่ในปีล่าสุดกลับให้ผลตอบแทนติดลบ 10% จึงแนะนำให้ศึกษารายละเอียดของกองทุน กระจายความเสี่ยง รวมถึงสอบถามผู้เชี่ยวชาญก่อนจัดพอร์ตลงทุน

นายสาห์รัช ชัฏสุวรรณ ผู้อำนวยการสายการตลาดและที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ กล่าวว่า ในปี 2563 ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยไม่ค่อยสดใสนัก เนื่องจากหลายกลุ่มอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ขณะที่กลุ่มหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลับไม่มีอยู่ในตลาดหุ้นไทย เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปต่างประเทศ ซึ่งปีนี้กอง FIF ก็น่าจะยังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง

โดยที่ผ่านมา บริษัทเสนอขายกองทุนที่เน้นลงทุนกับกลุ่มธุรกิจที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากภาวะโควิด-19 เป็นหลัก มากกว่ากองทุนหุ้นแต่ละประเทศ

“เราคาดว่าในปีนี้กองทุน FIF จะยังได้รับความสนใจต่อเนื่อง แต่เราจะปรับกลยุทธ์ไปเน้นที่การลงทุนในประเทศจีนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าเพื่อนจากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายลงก่อนประเทศอื่น ๆ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ GDP ประเทศจีนปีนี้จะเติบโต 7-8% ซึ่งเรามีแผนจะเปิดตัวกองทุนหุ้นจีนในช่วงก่อนตรุษจีนที่จะถึงนี้”

นายพีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า เทรนด์การออกไปลงทุนในต่างประเทศชัดขึ้นในปี 2563 สะท้อนจากเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในกองทุน FIF ของกองทุนบัวหลวงที่ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี

เช่น กองทุนหุ้นต่างประเทศที่มีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 7 หมื่นล้านบาท และกองทุนหุ้นจีนเงินไหลเข้า 5.26 หมื่นล้านบาท โดยปี 2564 บลจ.บัวหลวงยังแนะนำนักลงทุนกระจายการลงทุนไปต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสูง ควรเปิดโอกาสศึกษาการลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอนาคต เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ผลิตวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 เป็นต้น

“แม้ในช่วงสั้นกองทุนหุ้นไทยจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ในระยะยาวเทรนด์การลงทุนในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับเทรนด์ขนาดใหญ่ของโลก (megatrend) ก็ยังเป็นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว”