“สแตนชาร์ต” คาดจีดีพี 64 โต 3.1% ชี้เงินบาทแข็งยาวสิ้นปี 29 บาท/ดอลลาร์

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด มองจีดีพีไทยปี 2564 เติบโต 3.1% และปี 2565 อยู่ที 2.5% ชี้หนุนภาครัฐเพิ่มเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังเพิ่ม พร้อมคาด ธปท.คงดอกเบี้ยทั้งปี 0.50% ลั่นหากโควิดคุมไม่อยู่-มีล็อกดาวน์-การเมืองเป็นอุปสรรคต่อรัฐออกมาตรการ เชื่อมีช่องว่างลดดอกเบี้ย เผยมองทิศทางบาทแข็งค่าสิ้นปีกรอบอยู่ที่ 29 บาท/ดอลลาร์

นายทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดเผยว่า ธนาคารประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2564 อยู่ที่ระดับ 3.1% และในปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% โดยมุมมองเป็นไปแบบระมัดระวัง แม้ว่าจะมีปัจจับบวกเรื่องวัคซีนที่มีแผนชัดเจนจากภาครัฐในการกระจายวัคซีน ซึ่งประเมินว่าภายในสิ้นปี 2564 จะสามารถฉีดวัคซีนได้ประมาณ 50% ของประชากร หรือราว 30 ล้านคน และหากภาคเอกชนเข้ามารวมในการแจกจ่าย จะส่งผลต่อบรรยากาศ

ทิม ลีฬหะพันธุ์

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีพัฒนาการเรื่องวัคซีน แต่ยังเป็นการเติบโตที่ไม่แข็งแรงและมีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามหลังโควิด-19 อยู่ 2-3 ประเด็น คือ 1.นโยบายการคลังที่อยากจะเห็นมูลค่าการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่มีขนาดใหญ่มากกว่านี้ หากดูมูลค่าในช่วงการแพร่ระบาดรอบแรกจะอยู่ที่ 4 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันเม็ดเงินช่วยเหลืออยู่ที่ 2 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 1% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่ใช้เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 10% ของจีดีพี

และ 2.ภาคการท่องเที่ยว อาจจะยังไม่เห็นการฟื้นตัวได้รวดเร็ว อาจจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี เนื่องจากตอนนี้ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังคงติดลบ 100% ทุกเดือน ขณะที่ 3.ภาคการลงทุนภาครัฐ หากมีพัฒนาการลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ต่อจะหนุนภาคเอกชนทยอยลงทุนตามมา เช่นเดียวกับการบริโภค หากดูตัวเลขไตรมาส 2/2563 ติดลบ 10% แต่ปัจจุบันทยอยฟื้นตัวเป็นบวกได้ แต่จะขยายตัวไปสู่ระดับ 3-4% จำเป็นต้องมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนให้มีความมั่นใจในการใช้จ่าย

อย่างไรก็ตาม ภายใต้สมมุติฐานกรณีเลวร้าย หากกรณีที่ไม่มีวัคซีน และไทยไม่สามารถควบบคุมการแพร่ระบาดได้มียอดจำนวนผู้ติดเชื้อ 2,000 รายต่อวัน และมีการล็อกดาวน์เหมือนการระบาดรอบแรกเป็นระยะเวลา 2-3 เดือน จะเห็นว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมากราว 0% หรือหดตัวติดลบ อย่างรก็ดี ภาพในปัจจุบันธนาคารไม่ได้มองว่าจะเกิดขึ้น เพราะไทยยังสามารถควบคุมการระบาดได้ และมีการล็อกดาวน์บางพื้นที่เท่านั้น

“เราให้จีดีพีอยู่ที่ 3.1% น้อยกว่าคนอื่น และเป็นไปอย่างระมัดระวัง ไม่ได้มากหรือน้อยเกินไปเช่นเดียวกับปี 65 เราให้ 2.5% ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้น เพราะเราอยากเห็นความชัดเจนของนโยบายการคลัง แม้ว่าหนี้สาธารณะจะแตะเพดานกรอบ 60% จากคาดการณ์สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 57% แม้ว่าจะทำอะไรได้ไม่เยอะ แต่อยากเห็นนโยบายที่ถูกจุด นักท่องเที่ยวกลับมา การเมืองนอกสภาไม่เป็นอุปสรรค และการลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ จะมีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจที่มากกว่านี้ได้”

นายทิมกล่าวว่า สำหรับมุมมองต่อดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ มองว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% และคงตลอดทั้งปี 2564 อย่างไรก็ดี ธปท.มีโอกาสเอียงในการเปิดช่องว่างในการลดอัตราดอกเบี้ยได้ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ไทยมีความเสี่ยงเศรษฐกิจค่อนข้างมาก และหากดูนโยบายการคลังก็ไม่สามารถทำได้เยอะ เพราะติดเพดานหนี้สาธารณะ ดังนั้น ธปท.อาจรอดูนโยบายการคลัง แต่ไม่สามารถทำได้ เชื่อว่าโอกาสในการปรับลดดอกเบี้ยก็มีความเป็นไปได้

“การลดดอกเบี้ยจริง ๆ มองว่า สถานการณ์ต้องหนักจริง เช่น โควิดคุมไม่ได้ มีการล็อกดาวน์ บาทแข็งมากกระทบการส่งออก การเมืองพัฒนาไปถึงจุดที่เป็นอุปสรรคให้คลังไม่สามารถออกมาตรการหรือนโยบายมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่เชื่อว่าปีนี้ต้องพึงนโยบายการคลัง เพราะ ธปท.ลดดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้ง รวม 0.75% และ ธปท.มีความคิดว่าการลดดอกเบี้ยก็ช่วยไม่ถึงทุกภาคส่วน จึงไม่ใช่ทางออก จึงเป็นหน้าที่คลังและรัฐบาล เพราะถ้าลดอีกจะต้องนึกถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่จะได้ด้วย”

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่ายังคงมีทิศทางแข็งค่าตลอดทั้งปี โดยในช่วงกลางปีนี้กรอบเคลื่อนไหวจะอยู่ที่ 29.75 บาทต่อดอลลาร์ และปลายปีจะแข็งค่าในกรอบ 29 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาวัคซีนทำให้คนคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวและรายได้จากท่องเที่ยวกลับมา ส่งผลต่อค่าเงินบาทแข็งค่าได้ อย่างไรก็ดี โอกาสค่าเงินบาทอ่อนจะเกิดขึ้นได้ จะต้องมีการนำเข้าเพื่อลงทุนค่อนข้างเยอะ เพราะปัจจุบันการลงทุนและนำเข้าค่อนข้างน้อย แต่ภาคเอกชนจะต้องมั่นใจเรื่องเศรษฐกิจค่อนข้างมาก

“ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 58 จะเห็นว่าเงินบาทอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์ และปัจจุบันอยู่ที่ 30 บาทต่อดอลลาร์ จะเห็นว่าบาทแข็งค่าไปแล้ว 7 บาท ซึ่งต้องยอมรับว่าค่าเงินบาทไม่ได้มูฟตามเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐาน เพราะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากโควิดผ่านภาคการท่องเที่ยวมีสัดส่วน 20% จีดีพี แต่จะเห็นว่าบาทยังคงแข็งค่ามาตลอด เป็นทิศทางเดียว One Way และธปท.พยายามออกมาตรการมาโดยตลอด แต่ก็ยาก เพราะบาทยังคงแข็งอยู่ เราจึงคงมุมมองบาทยังแข็งค่า”