ผู้ทำประกัน 1 ล้านราย เช็กสิทธิ์ขอคืนเงิน “กรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ” 1,300 ล้าน

ประชาชน เดิน

รู้หรือไม่! ประชาชนเมื่อ “ทำประกันชีวิต” ไว้แล้วเกิน 2 ปี และส่งเบี้ยปีต่ออายุเกิน 5 ปี จากนั้นไม่ได้ส่งเบี้ยต่ออายุจนกรมธรรม์ขาดความคุ้มครอง หรือจนเวลาล่วงพ้น 10 ปี บริษัทประกันชีวิตต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันชีวิตตามกฎหมาย

ซึ่งจริงๆ ยังมีมูลค่าเงินสดอยู่ ประชาชนสามารถขอรับเงินคืนได้ที่กองทุนประกันชีวิต

โดยจะเรียกเงินนี้ว่า “เงินกรมธรรม์ที่ล่วงพ้นอายุความ” ซึ่งปัจจุบันผู้เอาประกันชีวิต หรือผู้รับผลประโยชน์ หรือทายาท ที่มีสิทธิตามกรมธรรม์ประกันชีวิต ในเงินนี้มีมากกว่า 1,000,482 ราย (ข้อมูลสิ้นเดือน ธ.ค.63)

นายจรัญ สอนสวัสดิ์ ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภารกิจตามหาผู้เอาประกันตามเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ ตอนนี้ทางกองทุนฯได้ดำเนินการโดยใช้วิธีการเชิงรุก “สืบค้นข้อมูลที่อยู่เอง” จากข้อมูลกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ลงนามสัญญา(MOU) ไว้ หากพบข้อมูลจะติดต่อให้ประชาชนเข้ามารับเงินที่กองทุนทันที

ก่อนหน้านั้นกองทุนฯจะใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าสืบค้นและตรวจสอบสิทธิ์ผ่านทางเว็บไซต์ กองทุนประกันชีวิต อย่างไรก็ตามปี 2563 พบว่ามีจำนวนทรานแซกชั่นยอดสืบค้นปี 63 ที่ผ่านมา พบว่ามียอดสืบค้นมากกว่า 2.3 แสนครั้ง เพิ่มขึ้น 11 เท่า จากยอดสืบค้นปี 62 ที่มีอยู่แค่ 2 หมื่นครั้ง

โดยปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความอยู่ที่ 1,373 ล้านบาท จำนวนผู้มีสิทธิได้รับเงิน 1,000,482 ราย ซึ่งในปี 2563 กองทุนจ่ายเงินคืนได้จำนวน 1,303 ราย คิดเป็นเงินรวม 8.1 ล้านบาท

“เราอยากให้เงินส่วนนี้คืนประชาชน เพราะหากไม่มาขอรับเงินที่กองทุนนานเกิน 10 ปี เงินตามสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์จะตกเป็นเงินสมทบของกองทุนทันที โดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิ์มาเรียกร้องคืนได้อีก”

ในปี 63 บริษัทประกันชีวิตที่นำส่งเงินเข้ากองทุนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เอไอเอ จำนวน 65 ล้านบาท, อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต จำนวน 39 ล้านบาท, ไทยประกันชีวิต จำนวน 37 ล้านบาท, ไทยสมุทรประกันชีวิต จำนวน 12 ล้านบาท, กรุงเทพประกันชีวิต จำนวน 7 ล้านบาท

อนึ่ง “กองทุนประกันชีวิต” มีฐานะเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัยในกรณีบริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิต และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันชีวิตให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพ

โดยกองทุนประกันชีวิตจัดตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 84 แห่งพระราชบัญัญติประกันชีวิต พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญัญิประกันชีวิต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551