หนี้เสีย SMEs ปีนี้ส่อแตะ10% หวั่นเลิกจ้างพุ่ง-จี้รัฐเร่งแก้ปมซอฟต์โลน

“ทีเอ็มบี” ชี้หนี้เสียเอสเอ็มอีน่าห่วง แนวโน้มปี’64 ส่อพุ่งแตะระดับ 10% จากสิ้นปี’63 อยู่ที่ประมาณ 6.5% หลังเผชิญผลกระทบโควิดระลอกใหม่ “ร้านค้าปลีก-เบ็ดเตล็ด-โรงแรม-ร้านอาหาร” ทั่วประเทศรายได้ทรุดหนัก ขณะที่เอ็นพีแอลทั้งระบบคาดขยับขึ้นแตะ 3.6% จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 3.2% ฟาก สสว.หวั่นเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องหนัก หากไม่เร่งแก้ปมซอฟต์โลน สะท้อนจากยอดแห่ขอกู้ “เสริมพลังฐานราก” ของแบงก์ออมสิน พบว่ามีเอสเอ็มอีเครดิตดีแต่ขาดสภาพคล่องจำนวนมาก

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) กล่าวว่า ในปี 2564 นี้แนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) และสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ในระบบธนาคารพาณิชย์ คาดว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก แต่ก็ขึ้นกับว่าจะควบคุมการระบาดของโควิดระลอกใหม่ได้เร็วแค่ไหนด้วย โดยคาดว่าถึงสิ้นปีเอ็นพีแอลทั้งระบบน่าจะขยับขึ้นไปไม่เกิน 3.6% หรือคิดเป็นยอดคงค้างประมาณ 6 แสนล้านบาทจาก ณ สิ้นปี 2563 ที่น่าจะอยู่ที่ 3.2% หรือยอดคงค้างที่ 5.25 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ยอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งระบบปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 12% จากปีก่อนถือว่าไม่ได้มากผิดปกติ และระบบแบงก์ก็คงพยายามเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อไม่ให้กลายเป็นเอ็นพีแอลมากเกินไปด้วย

นายนริศกล่าวว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่สินเชื่ออาจจะตกชั้นเพิ่มขึ้นได้มากกว่าสินเชื่อกลุ่มอื่น ๆ โดยประเมินว่าเอ็นพีแอล เอสเอ็มอีมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับเกือบ 10% ในสิ้นปี 2564 นี้ จากที่อยู่ที่ 6.5% ณ สิ้นปี 2563

“ก่อนมีโควิดเอ็นพีแอล เอสเอ็มอี 4.5-5% อยู่แล้ว โดยสิ้นปีที่ผ่านมาเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 6.5% และปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปที่เกือบ 10% แต่คงไม่เกินจากนั้น ทั้งนี้ ระบบแบงก์ก็คงต้องมีการดูแล เร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อไม่ให้พุ่งมากเกินไป รวมถึงต้องดูมาตรการของทางการด้วย โดยต้องอาศัยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เข้าไปช่วย พร้อม ๆ กับการค้ำประกันสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น” นายนริศกล่าว

ขณะที่จากการวิเคราะห์ของ TMB Analytics ที่ประเมินผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่มองว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีที่จะถูกกระทบหนักสุด คือ ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า โดยจะมีรายได้ลดลงกว่า 5,000 ล้านบาท รองลงมาร้านค้าเบ็ดเตล็ดรายได้ลดลง 4,700 ล้านบาท ซึ่งสาเหตุที่ธุรกิจ ร้านค้าปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ดได้รับผลกระทบมากลำดับต้น ๆ เนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ สำหรับธุรกิจโรงแรม/ที่พัก และธุรกิจร้านอาหาร รายได้ลดลง 3,800 และ 2,700 ล้านบาทตามลำดับ

นายนริศกล่าวอีกว่า ส่วนแนวโน้มเอ็นพีเอปีนี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ที่อยู่ที่ราว 6.3 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี การระบายเอ็นพีเอของแบงก์ในปีนี้คงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก โดยแบงก์คงจะพยายามเก็บเอ็นพีเอเอาไว้บริหารเองเป็นหลักหรือทยอยขายออกมา เพราะหากแห่ขายกันออกมาก็จะทำให้ราคาในตลาดตกลงมาก ส่วนเอ็นพีแอลหากจะขายน่าจะเป็นในส่วนของการทยอยตัดหนี้สูญกันออกมา เพราะที่ผ่านมาตั้งสำรองกันค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้สัดส่วนเอ็นพีแอลต่อสินเชื่อสูงเกินไป

นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และประธานกรรมการบริหารธนาคารออมสินกล่าวว่า ปีนี้เอสเอ็มอี จะยิ่งขาดสภาพคล่องกันหนักหากซอฟต์โลนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังติดปัญหาอุปสรรคอยู่เช่นเดิม ซึ่งเมื่อเอสเอ็มอีมีปัญหาก็จะกระทบกับการจ้างงาน เนื่องจากน่าจะมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยทุกวันนี้อย่างธุรกิจร้านอาหารก็จ้างงานกันแค่ครึ่งเดียวอยู่แล้ว

“จากที่ธนาคารออมสินเปิดให้ขอกู้สินเชื่อเสริมพลังฐานราก พบว่าแค่ 10 วันมีคนขอสินเชื่อเข้ามากว่า 4 แสนราย ซึ่งในจำนวนนี้ก็มีเอสเอ็มอีอยู่ด้วย แล้วจากที่ดูคือกลุ่มนี้มีเครดิตดีเพียงแต่ขาดสภาพคล่องกันมาก” นายมงคลกล่าว