ส่งออกไทยอนาคตสดใส รับนโยบาย “โจ ไบเดน”

คอลัมน์ Smart SMEs

ชัยยศ ตันพิสุทธิ์
ธนาคารกสิกรไทย

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายโจ ไบเดน ได้เข้าพิธีสาบานตนเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการไปแล้ว ซึ่งผู้นำคนใหม่นี้มีนโยบายการบริหารประเทศค่อนข้างจะแตกต่างจาก นายโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่พอสมควร

หลายฝ่ายเชื่อว่าไบเดนจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหรัฐให้กลับมาฟื้นตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.0% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เตรียมจะดำเนินการ เป็นวงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9% ของจีดีพีสหรัฐ ซึ่งก็ทำให้บรรยากาศการค้าและการลงทุนกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทำให้การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐได้รับอานิสงส์ตามไปด้วย

คาดว่าในปี 2564 นี้การส่งออกไทยไปสหรัฐจะกลับมาขยายตัวได้ถึง 10-12% มีมูลค่าการส่งออกที่ 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยหลายรายการ

รวมถึงอาจมีการลดความรุนแรงจากการกีดกันการค้ากับไทย โดยมี 3 กลุ่มสินค้าส่งออกของผู้ประกอบการไทยที่อนาคตสดใสได้อานิสงส์จากนโยบายของไบเดน ดังนี้ครับ

1.สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น โดยเฉพาะในกลุ่มอาหาร เช่น อาหารทะเลกระป๋อง/แปรรูป ข้าว ผลไม้กระป๋องอาหารสัตว์เลี้ยง และสินค้าเกษตรอื่น ๆ น่าจะยังคงเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดและผ่านวิกฤตโควิด-19 มาแล้ว

2.สินค้าอุปโภคบริโภคกลุ่มฟุ่มเฟือย ซึ่งขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของภาคครัวเรือน โดยมีความเป็นไปได้ว่าการจ้างงานและครัวเรือนชนชั้นกลางน่าจะได้ประโยชน์จากนโยบายของนายโจ ไบเดนที่น่าจะเอื้อให้คนอเมริกันมีรายได้ส่วนเกิน พอที่จะจับจ่ายสินค้าฟุ่มเฟือยได้มากขึ้น ทำให้สินค้าไทย อย่างเช่น อัญมณีและเครื่องประดับ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ ได้รับอานิสงส์ได้ด้วย

3.สินค้าขั้นกลางเพื่อการผลิตของไทยได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ และนโยบายลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ของนายโจ ไบเดน ที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนพลังงานสะอาด และการขยายเครือข่ายระบบ 5G ทำให้มีความต้องการสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ แผงโซลาร์เซลล์และไดโอด อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตอยู่แล้วน่าจะทำตลาดได้ดียิ่งขึ้นอีก

นอกจากนี้ อานิสงส์ทางอ้อมจากกำลังซื้อของสหรัฐที่ฟื้นตัว ยิ่งมีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากต่างประเทศ หนุนให้มีความต้องการสินค้าขั้นกลางของไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตในประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งสินค้ากลับไปขายให้ผู้บริโภคในสหรัฐอีกที

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีประธานาธิบดีคนใหม่แต่สงครามการค้ากับจีนก็จะยังคงดำเนินต่อไป และมีความเสี่ยงที่จะกลับมาร้อนแรงได้อีกจากการขึ้นภาษีสินค้าจีนต่อเนื่อง และแรงกดดันจีนในด้านเทคโนโลยีก็ยังมีอยู่ เพียงแต่กลยุทธ์ในการกดดันจีนจะเริ่มเปลี่ยนไป โดยจะเน้นหนักไปที่การกลับมาสร้างพันธมิตรเพื่อโดดเดี่ยวจีน และสร้างฐานอำนาจของสหรัฐในเวทีโลก

โดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจกลับมาสนใจเข้าร่วม CPTPP และเดินหน้าเจรจาสานสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (TTIP) ทำให้จีนเผชิญคู่กรณีที่มากขึ้น ซึ่งน่าจะสร้างผลกระทบให้ผู้ประกอบการไทยที่มีค้าขายกับจีนอยู่ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในส่วนของห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตหรือประกอบในจีน จะถูกลดบทบาทลงไปโดยปริยาย ซึ่งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีนไม่น่าจะจบลงโดยง่าย

ผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือสงครามที่อาจจะยืดเยื้อต่อไปครับ