ธนารักษ์ เร่งสร้างโรงแรมหรู ลงทุนกว่า 1.8 พันล้าน บนที่ร้อยชักสาม

ธนารักษ์ ร่วมลงทุนร่วมเอกชน สร้างโรงแรมหรู กว่า 1.8 พันล้านบาท บนที่ราชพัสดุร้อยชักสาม หวังเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่กรุงเทพฯ คาดแล้วเสร็จ พ.ย.64 พร้อมเดินหน้าแก้ปมหมอชิตคอมเพล็กซ์ ต้น ก.พ.นี้ นัดถกหน่วยงานเกี่ยวข้อง

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ได้ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการร่วมทุนกับภาคเอกชน (พีพีพี) เพื่อพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณโรงภาษีร้อยชักสาม กับบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างเป็นโรงแรมหรูหราระดับสูงกว่า 5 ดาว และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้ได้เริ่มมีการลงทุนไปแล้ว และคาดว่าโครงการจะเดินหน้าเสร็จตามแผนในปี 68 ที่สำคัญการแพร่ระบาดของโควิดจะไม่ส่งผลกระทบ เพราะมีการป้องกันดูแลเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ตามแผนโครงการพัฒนาโรงภาษีร้อยชักสามจะใช้เงินลงทุนทั้งหมดกว่า 1,800 ล้านบาท และยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับกรมอีก 200 ล้านบาท ตลอดจนค่าเช่าตลอดอายุสัญญา 30 ปีอีกว่า 1,600 ล้านบาท สำหรับรูปแบบการก่อสร้างจะมีการสร้างอาคารใหม่เป็นโรงแรมขนาด 80 ห้อง ส่วนตัวอาคารเก่าจะคงรูปแบบอาคารเดิมไว้ เพื่อปรับปรุงเป็นห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง และร้านอาหารให้บริการแก่นักท่องเที่ยว

นอกจากนี้ กรมยังมีการดำเนินการก่อสร้างอาคารชดเชยให้กองบังคับการตำรวจน้ำ ที่ย้ายออกไปจากพื้นที่โรงภาษีร้อยชักสามด้วย ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารชดเชยคืบหน้าไปว่า 81% คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.64 นี้

“โรงภาษีร้อยชักสาม เป็นอาคารโบราณสถานอายุนานกว่า 100 ปี ซึ่งเดิมเป็นอาคารศุลกสถาน เพื่อจัดเก็บภาษีขาเข้าและขาออกกับประเทศฝั่งตะวันตก และใช้เป็นสถานที่แก้ปัญหาเรื่องสินค้าหนีภาษี และการจัดเก็บภาษีได้ไม่ทั่วถึง รวมถึงเป็นที่ทำการตำรวจน้ำและสถานีตำรวจดับเพลิงบางรัก กรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินราชพัสดุแปลงนี้ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือพีพีพี รวมทั้งร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนและสัญญาเช่า”

นายยุทธนากล่าวว่า ในต้นเดือน ก.พ.64 กรมจะมีการประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) บริษัทเอกชนผู้ชนะการประมูล เพื่อหาข้อสรุปการดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณพหลโยธิน หรือหมอชิตคอมเพล็กซ์ โดยมีประเด็นสำคัญ คือการพิจารณาเรื่องการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตว่าจะย้ายกลับมาหรือไม่ หรือหากย้ายจะย้ายกลับมาในรูปแบบใด เนื่องจากเงื่อนไขการเปิดประมูลพัฒนาพื้นที่ได้กำหนดว่าจะมีการใช้พื้นที่ 112,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการย้ายกลับของสถานีขนส่งกลับมา


“เรื่องนี้กรมฯจะพยายามหาข้อยุติให้ได้โดยเร็ว เพื่อทำให้โครงการเดินหน้าได้ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเมื่อไม่นานมานี้กรมได้เชิญภาคเอกชนมาหารือ ก็ได้รับการยืนยันว่ามีความสนใจที่จะเดินหน้าโครงการต่อ เนื่องจากเป็นโครงการสำคัญ มีมูลค่า 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ตอนนี้ยังติดประเด็นเรื่องการย้าย บขส. ว่าจะทำอย่างไร ส่วนกรณีที่มีชาวบ้านในพื้นที่ออกมาคัดค้านไม่ต้องการให้ย้ายสถานีขนส่งกลับมา จะเร่งลงไปสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพื่อชี้แจงให้ทราบถึงประโยชน์ รวมถึงแนวเวนคืนที่ดิน รวมถึงปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการก่อสร้างทางเข้าและออก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่อประชาชน”