ลุ้นกลุ่มธนาคารออกหุ้นกู้ไถ่ถอน ครบดีล 6 หมื่นล้าน

หุ้นกู้-ธนบัตร

“สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย” เปิดตัวเลขหุ้นกู้แบงก์ครบดีลปีนี้ 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่มีหุ้นกู้ที่ไถ่ถอนได้ก่อนกำหนดอีก 1 หมื่นล้านบาท “กรุงศรี” มากสุด 3.6 หมื่นล้านบาท รองลงมา “เกียรตินาคินภัทร” 1 หมื่นล้านบาท ชี้ยังต้องลุ้น เหตุเศรษฐกิจยังไม่ฟื้น-แบงก์ระวังปล่อยกู้-เงินกองทุนยังอยู่ระดับสูง เผยปีที่ผ่านมาแบงก์มีหุ้นกู้ครบดีลกว่า 1 แสนล้านบาท แบงก์ออกหุ้นกู้ใหม่ไปแค่กว่า 3 หมื่นล้านบาท

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในปี 2564 กลุ่มธนาคารพาณิชย์ (bank) จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดอายุไถ่ถอนทั้งสิ้นประมาณ 61,600 ล้านบาท และจะมีหุ้นกู้ที่นับเป็นเงินกองทุน ซึ่งแบงก์สามารถไถ่ถอนคืนก่อนกำหนดได้ในปีที่ 5 (call option) ครบกำหนดอีกราว 10,000 ล้านบาท

ดังนั้น จึงอาจจะคาดการณ์ยากว่า ปีนี้แบงก์จะออกหุ้นกู้กันแค่ไหน หลังจากปี 2563 ที่แบงก์มีหุ้นกู้ครบกำหนดไถ่ถอนสูงถึง 110,000 ล้านบาท แต่ออกหุ้นกู้ใหม่เพียงไม่กี่หมื่นล้านบาทเท่านั้น และบางแบงก์เองก็หันไประดมทุนออกหุ้นกู้ในต่างประเทศด้วย

“ในภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และเงินกองทุนของแต่ละแบงก์ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน แบงก์ก็ปล่อยกู้อย่างค่อนข้างระมัดระวังอย่างมากในภาวะที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 เพราะฉะนั้น แต่ละแบงก์จึงมีสภาพคล่องหรือเงินสดอยู่จำนวนมาก การระดมทุนออกหุ้นกู้เมื่อครบกำหนดอาจจะไม่จำเป็น” นางสาวอริยากล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ThaiBMA พบว่า ในปี 2563 แบงก์ออกหุ้นกู้รวม 5 แบงก์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 39,769 ล้านบาท ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทย (TMB) จำนวน 14,689 ล้านบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) จำนวน 7,000 ล้านบาท, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) จำนวน 7,100 ล้านบาท, กลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LHFG) จำนวน 4,500 ล้านบาท และธนาคารทิสโก้ จำนวน 6,480 ล้านบาท

ส่วนหุ้นกู้ของแบงก์ที่จะครบอายุไถ่ถอนในปี 2564 มีด้วยกันประมาณ 8 แบงก์ ประกอบด้วย 1.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ครบอายุไถ่ถอน จำนวน 36,000 ล้านบาท 2.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ครบอายุไถ่ถอน จำนวน 10,000 ล้านบาท 3.ธนาคารยูโอบีไทย (UOBT) ครบอายุไถ่ถอน จำนวน 5,000 ล้านบาท 4.แอล เอช ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (LHFG) ครบอายุไถ่ถอน จำนวน 4,100 ล้านบาท

5.ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ครบอายุไถ่ถอน จำนวน 2,300 ล้านบาท 6.ธนาคารซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ปอเรชั่น สาขากรุงเทพฯ ครบอายุไถ่ถอน จำนวน 2,000 ล้านบาท 7.ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) ครบอายุไถ่ถอน จำนวน 1,200 ล้านบาท และ 8.ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH Bank) ครบอายุไถ่ถอนจำนวน 1,000 ล้านบาท