เงินบาทเคลื่อนไหวกรอบแคบ ตลาดจับตาการประชุม กนง. 3 ก.พ.นี้

ธนาคารแห่ง

ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวกรอบแคบ ตลาดจับตาการประชุม กนง.ในวันพรุ่งนี้(3 ก.พ.) นักลงทุนจับตาการหารือนอกรอบมาตรการเยียวยาผู้ประกันตน มาตรา 33 และการเยียวยากลุ่มคนเปราะบาง

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/2) ที่ระดับ 29.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (1/2) ที่ระดับ 29.95/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่นักลงทุนส่วนมากยังมีความกังวลกับการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนที่ล่าช้า

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐเมื่อคืนนี้ เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตจากสถาบันไอเอสเอ็มปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 58.7 จุดในเดือนมกราคม จากเดิมที่ระดับ 60.5 จุด และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 60.0 จุด จากคำสั่งซื้อที่ชะลอตัวลง ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนธันวาคม เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.9% หลังจากพุ่งขึ้น 1.1% ในเดือนพฤศจิกายน

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาความคืบหน้าในเรื่องของการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทำเนียบขาว โดยรายงานล่าสุดระบุว่า วุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกัน 10 คน ได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ปรับลดวงเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจลงจากระดับ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อให้สามารถผ่านการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐ

ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครตเตรียมเสนอมาตรการดังกล่าวต่อสภาคองเกรสในสัปดาห์นี้ แม้ว่ายังคงไม่มีความชัดเจนว่าข้อเสนอของวุฒิสมาชิกทั้ง 10 คนของรีพันลิกันจะสามารถทำให้ฝั่งเดโมแครตเปลี่ยนแผนการออกมาตรการดังกล่าวในอีกไม่กี่วันข้างหน้าได้หรือไม่

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท ปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (1/2) โดยนักลงทุนจับตาการหารือนอกรอบมาตรการเยียวยา ผู้ประกันตน ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 และการเยียวยากลุ่มคนเปราะบาง ในส่วนที่นอกเหนือจากโครงการเราชนะ อาทิ การปล่อยสินเชื่อปลอดดอกเบี้ย

อย่างไรก็ดีตลาดให้ความสนใจผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) ในวันพรุ่งนี้ (3/2) โดยคาดว่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.96-29.99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/2) ที่ระดับ 1.2066/68 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/2) ที่ระดับ 1.2113/15 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร เนื่องจากตัวเลขดัชนียอดขายปลีกของเยอรมนี ในเดือนธันวาคม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ -9.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ -2.6% และต่ำกว่าครั้งก่อนที่ 1.1%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2156-1.2187 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 1.2065/67 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (2/2) ที่ระดับ 104.87/89 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (1/2) ที่ระดับ 104.75/77 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่นายโยชิฮิเดะ ซูงะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นประกาศขยายระยะเวลาบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและพื้นที่อื่น ๆ ออกไปจนถึงวันที่ 7 มีนาคม

โดยแม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะเริ่มลดลง แต่โรงพยาบาลหลายแห่งกำลังเผชิญกับความกดดันเนื่องจากมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทั้งนี้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะครอบคลุมพืันที่ 10 จังหวัด ซึ่งรวมถึงจังหวัดไอจิ โอซากา และฟูกูโอกะ โดยมีจังหวัดโทจิงิเพียงแห่งเดียวที่เตรียมยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ หลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลายลงแล้ว

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.81-105.03 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 104.91/93 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ไตรมาส 4/2563 ของยูโรโซน (2/2), ดัชนีผู้จััดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของญี่ปุ่น เดือนมกราคม (3/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน เดือนมกราคม (3/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของยูโรโซน เดือนมกราคม (3/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคของยูโรโซนเดือนมกราคม (3/2),

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของสหรัฐ เดือนมกราคม (3/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการก่อสร้างของสหราชอาณาจักรเดือนมกราคม (4/2), ดัชนียอดขายปลีกของยูโรโซน เดือนธันวาคม (4/2), จำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐ (4/2), ยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของสหรัฐ (4/2), ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ เดือนมกราคม (5/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.3/0.35 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 1.8/2.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ