แบงก์พักหนี้ต่อ 6-12 เดือน อุ้ม SME “ท่องเที่ยว-โรงแรม“

ท่องเที่ยวซบเซา
แฟ้มภาพ

แบงก์ยื่นมือช่วยลูกค้าเอสเอ็มอี บรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ “กสิกรไทย” ส่งอาร์เอ็มสำรวจลูกค้าพื้นที่เสี่ยง พักหนี้กลุ่มท่องเที่ยวต่อ 6 เดือน เดินหน้าปล่อยซอฟต์โลน 2.4 หมื่นล้าน “เกียรตินาคินภัทร” พักหนี้ต่อไม่เกิน 1 ปี “ไทยพาณิชย์” ให้วงเงินค่าใช้จ่ายสูงสุด 30 เดือน จากยอดลูกหนี้เอสเอ็มอีเข้าโครงการ 1.06 แสนล้าน

นายชัยยศ ตันพิสุทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตอนนี้ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต่อเนื่อง โดยลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ควบคุมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรอบแรก เช่น ขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ หรือการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น

โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น การขนส่ง รถทัวร์ ร้านขายของที่ต้องพึ่งนักท่องเที่ยว เป็นต้น กลุ่มนี้ธนาคารจะพิจารณาให้การช่วยเหลือโดยการพักชำระหนี้ต่ออีก 6 เดือน แต่จะต้องเป็นธุรกิจที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้่ และหลังจากนั้นจะกลับมาพิจารณาตามความเหมาะสม

ทั้งนี้ลูกค้าที่ขอรับความช่วยเหลือปัจจุบันพบว่าประมาณ 90% กลับมาชำระได้แล้ว และอีก 10% ที่ชำระได้บ้าง ติดขัดบ้าง ธนาคารก็ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง รวมถึงได้ปล่อยสินเชื่อเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ขณะนี้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นลูกค้าที่เข้าโครงการ 8,000 ราย เฉลี่ยวงเงิน 3 ล้านบาทต่อราย ถือว่าค่อนข้างกระจายและไปถึงรายย่อยได้ดี

“ตอนนี้ธนาคารให้เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ ติดต่อลูกค้าก่อนจะครบดีลการชำระค่างวดว่าต้องการรับความช่วยเหลือหรือไม่ โดยได้เริ่มสำรวจในพื้นที่เสี่ยงที่ถูกควบคุมก่อน เพราะเป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ หากเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมจะพักชำระหนี้ก่อน 6 เดือน ส่วนมาตรการช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ เช่น ลดอัตราการผ่อนชำระลง ชำระดอกเบี้ยอย่างเดียว ลดดอกเบี้ย หรือหยุดจ่ายเลย เป็นต้น”

เกียรตินาคินภัทรพักหนี้ต่อ 1 ปี

นายสำมิตร สกุลวิระ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายสินเชื่อธุรกิจ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า สำหรับมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปเหมือนรอบแรก แต่ ธปท.ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทย (TBA) และธนาคารพาณิชย์ในการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบตามความเหมาะสมและการพิจารณาของแต่ละธนาคาร

สำหรับเกียรตินาคินภัทรจะเห็นว่าธนาคารได้ให้การช่วยเหลือในการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีไปแล้วก่อนหน้านี้ในช่วงโครงการมาตรการช่วยเหลือระยะที่ 1-2 อย่างไรก็ดี หากลูกค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมธนาคารจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี ที่ผ่านมาพิจารณาพักชำระหนี้ 3-6 เดือน หรือ 1-1 ปีครึ่ง ครั้งนี้เบื้องต้นธนาคารจะพิจารณาพักชำระหนี้ให้ลูกค้าไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากผลกระทบรอบนี้ไม่ได้รุนแรงเหมือนรอบแรกที่มีการล็อกดาวน์ประเทศ

ที่ผ่านมาธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าไปแล้วกว่า 600 ราย คิดเป็น 60% ของลูกค้าทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มียอดสินเชื่อคงค้างกับธนาคาร ณ เดือนพฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 3.8 หมื่นล้านบาท รูปแบบการช่วยเหลือกว่า 80% เป็นการช่วยลดภาระกระแสเงินสดให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้ามีสภาพคล่องในการหมุนเวียนและบริหารธุรกิจ เช่น การพักชำระเงินต้น-ดอกเบี้ย การลดค่างวดผ่อน เป็นต้น เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ และจะช่วยลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น

“ตลอดปี 2563 ที่ผ่านมา ธนาคารให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของมาตรการของ ธปท.และมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมของธนาคารเอง และในปี 2564 ธนาคารจะยังสนับสนุนให้ลูกค้าผ่านวิกฤตรอบใหม่ไปให้ได้ ควบคู่กับการบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอล โดยให้เจ้าหน้าที่ RM ที่มีความเข้าใจในธุรกิจของลูกค้าและความต้องการช่วยเหลือของลูกค้าแต่ละรายเป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาพอร์ตสินเชื่อของสายงานสินเชื่อธุรกิจไม่มีอัตราเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น เนื่องจากส่วนใหญ่มีหลักประกันคุ้มวงเงินสินเชื่อ”

เอสซีบีช่วยเสริมสภาพคล่อง

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยในเรื่องนี้ ตอนนี้ลูกค้าที่เข้าโครงการช่วยเหลือภายใต้การช่วยเหลือของธนาคาร ณ สิ้นไตรมาส 4 ปี 2563 อยู่ที่ประมาณ 18% หรือ 4.02 แสนล้านบาท ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร ซึ่งเป็นลูกค้าเอสเอ็มอีประมาณ 1.06 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ ธนาคารได้เปิดโปรแกรมให้การช่วยเหลือโดยพิจารณาเป็นรายกรณี โดยลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงธนาคารมีการสอบถามสถานการณ์ และประเมินการช่วยเหลือ ขณะที่กลุ่มลูกค้าธุรกิจโรงแรมธนาคารได้ออกโปรแกรมให้การช่วยเหลือเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ วงเงินสูงสุด 30 เดือนตามค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่เกิดขึ้นจริง และวงเงินพิเศษเพื่อเตรียมความพร้อมรอกิจการสามารถดำเนินธุรกิจถ้าสถานการณ์กลับฟื้นตัว และการขยายเวลาผ่อนชำระตามความรุนแรงของผลกระทบในแต่ละพื้นที่ท่องเที่ยว ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับธุรกิจโรงแรม

“ลูกค้ากลุ่มโรงแรมที่ได้รับผลกระทบจากปีที่แล้วนั้น ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงเริ่มปรับและปรับวิธีในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อได้ ขณะเดียวกันธนาคารอยู่ในขั้นตอนในการประมาณการเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งยืดระยะเวลาการผ่อนชำระเพื่อลดภาระของลูกหนี้ในช่วงที่ธุรกิจยังไม่กลับมาปกติ เพื่อเร่งประคองธุรกิจของลูกค้าให้สามารถดำเนินต่อไปได้ในอนาคต เนื่องกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะโรงแรมส่วนที่อยู่ในหัวเมืองที่อิงกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเป็นหลัก” นางพิกุลกล่าว