ค่าเงินบาทแกว่งตัวในกรอบจำกัดโดยตลาดรอปัจจัยใหม่หนุนการซื้อขาย

เงินบาท-ดอลลาร์

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/2) ที่ระดับ 30.00/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (3/2) ที่ระดับ 30.04/06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวกรอบแคบในแนวแข็งค่า ขณะที่ดัชนีหุ้นดาวโจนปิดบวก 36.12 จุด ขานรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยออโตเมติก ดาต้า โพรเซสซิ่ง อิงค์ (ADP) และมูดี้ส์ อนาลิติกส์ เปิดเผยว่า การจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐเพิ่มขึ้น 174,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 49,000 ตำแหน่ง นอกจากนี้ ADP ยังได้ปรับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนในเดือนธันวาคม 2563 เป็นลดลง 78,000 ตำแหน่ง จากเดิมที่รายงานลดลง 123,000 ตำแหน่ง นอกจากนั้น สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการบริการของสหรัฐ ดีดตัวสู่ระดับ 58.7 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากระดับ 57.7 ในเดือนธันวาคม และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56.8 และไอเอชเอส มาร์กิตได้เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 58.3 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นอันดับ 2 ในรอบเกือบ 6 ปี จากระดับ 54.8 ในเดือนธันวาคม

ด้านนางเจเน็ต เยลเลน  รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ กล่าวว่า จะมีการจัดการประชุมวาระพิเศษร่วมกับผู้นำในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรพย์สหรัฐ, ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และคณะกรรมาธิการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์สหรัฐ (CFTC) ในสัปดาห์นี้ เพื่อหารือเกี่ยวกับความผันผวนในตลาดหุ้นสหรัฐ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่นักลงทุนรายย่อยปั่นราคาหุ้น GameStop และหุ้นของบริษัทอื่น ๆ ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐประกาศว่าจะมีการไต่สวนความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดอันเนื่องจากหุ้น (GameStop เช่นกัน ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์นี้

ในส่วนของค่าเงินบาทนั้นปรับตัวอ่อนค่าในกรอบจำกัด โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ 47.8 ในเดือนมกราคม จากเดิมที่ 50.1 ในเดือนธันวาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่ำที่สุดในรอบ 9 เดือน เนื่องจากความกังวลต่อสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ในไทย ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 30.00-30.06 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/2) ที่ระดับ 1.2034/36 ดอลลาร์สรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (3/2) ที่ระดับ 1.2017/21 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร คาเงินยูโรได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของสหภาพยุโรป ออกมาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 และดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของสหภาพยุโรป ออกมาที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ในเดือนมกราคม ซึ่งสูงกว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 นอกจากนั้น สถาบันไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของสหภาพยุโรปที่ระดับ 47.8 ในเดือนมกราคม ซึ่งสูงว่าระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 47.5 ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.1988-1.2140 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1990/94 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (4/3) ที่ระดับ 105.01/04 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพุธ (3/2) ที่ระดับ 105.06/08 เยน/ดอลลาร์สหรับ ค่าเงินเยนทรงตัวโดยนักลงทุนทำการซื้อขายอย่างระมัดระวังท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.00-105.25 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.23/24 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐยุโรป เดือนธันวาคม (4/2), อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางสหราชอาณาจักร (4/2), จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (/2), ผลิตภาพนอกภาคการเกษตรสหรัฐ ไตรมาส 4/2563) (4/2), คำสั่งซื้อสินค้าโรงงานสหรัฐ (4/2), ค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือนญี่ปุ่น เดือนธันวาคม (5/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคไทย เดือนมกราคม (5/2), การจ้างงาน นอกภาคเกษตรสหรัฐ เดือนมกราคม (5/2), อัตราการว่างงานสหรัฐ เดือนมกราคม (5/2) รายได้เฉลี่ยรายชั่วโมงสหรัฐ เดือนมกราคม (5/2), ดุลการค้าสหรัฐเดือนธันวาคม (5/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.15/0.25 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือน ต่างประเทศอยู่ที่ 3.3/3.80 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ