เงินบาทอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า ผลประกอบการ บจ.-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ

เงินบาท

เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยปรับตัวขึ้นตามทิศทางหุ้นต่างประเทศ จับตาปัจจัยสำคัญสัปดาห์หน้า ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของประธานเฟด สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/63 ของบจ. ไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทขยับอ่อนค่าเล็กน้อย โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ ขณะที่มติของกนง. ซึ่งคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% มีผลต่อเงินบาทในกรอบจำกัด เนื่องจากเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดีเงินบาททยอยอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนต่อเนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าที่คาด และความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังประธานาธิบดี โจ ไบเดนส่งสัญญาณเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ (5 ก.พ.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 30.09 เทียบกับระดับ 29.94 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (29 ม.ค.)

baht-5feb

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 29.90-30.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถ้อยแถลงของประธานเฟด และสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.พ. (เบื้องต้น) นอกจากนี้ตลาดอาจรอติดตามข้อมูลเดือนม.ค. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิต ด้วยเช่นกัน

ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,496.61 จุด เพิ่มขึ้น 2.02% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 78,305.73 ล้านบาท ลดลง 10.57% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 3.82% มาปิดที่ 369.95 จุด

ภาพรวมหุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อนและเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ แม้จะเผชิญกับแรงเทขายจากกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเกือบตลอดสัปดาห์ก็ตาม โดยมีปัจจัยหนุนหลักจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศในระหว่างสัปดาห์ซึ่งออกมาดีกว่าคาด อาทิ เครื่องชี้ภาคการผลิตและบริการ รวมถึงตัวเลขตลาดแรงงานเดือนม.ค. ตลอดจนความพยายามในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ขณะที่หุ้นหลายกลุ่มปรับตัวขึ้นในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารและพลังงาน

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (8-12 ก.พ.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,485 และ 1,470 จุด ขณะที่ แนวต้านอยู่ที่ 1,510 และ 1,525 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ผลประกอบการงวดไตรมาส 4/63 ของบจ. ไทย ความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. และตัวเลขผู้ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. ของจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค.ของญี่ปุ่น รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนธ.ค. 63 ของยูโรโซน