COVID-19 ทำคนจนโลกเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคน

คอลัมน์ เช้านี้ที่ซอยอารีย์
พงศ์นคร โภชากรณ์ 
[email protected]

จากการคาดการณ์ของธนาคารโลก (World Bank) พบว่าก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 จำนวนคนจนของโลกยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องจาก 689 ล้านคนในปี 2560 เหลือ 615 ล้านคนในปี 2563 แต่ผลกระทบจากโควิด-19 อาจจะทำให้คนจนของโลกเพิ่มขึ้นเป็น 729 คนในปี 2563 และ 736 ล้านคน ในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านคนในช่วงปี 2563-2564

นอกจากนี้ ธนาคารโลกยังได้คาดการณ์จำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นแยกออกเป็น 7 ภูมิภาค พบว่าภูมิภาคเอเชียใต้เป็นภูมิภาคที่มีคนจนเพิ่มขึ้นมากที่สุด 56.5 ล้านคน รองลงมาคือภูมิภาคแอฟริกา 40 ล้านคน และหากนำภูมิภาคเอเชียใต้รวมกับเอเชีย-แปซิฟิก จำนวนคนจนจะเพิ่มขึ้นถึง 65.5 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นทั้งโลก นี่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญของเอเชียในระยะต่อไปแน่นอน

ผลของจำนวนคนจนของโลกที่เพิ่มขึ้นจากแนวโน้มปกติ ทำให้ในช่วงเวลาดังกล่าวประเทศต่าง ๆ ต้องออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กับการรักษาระดับการจ้างงานและรายได้ของคนจำนวนมากไม่ให้ถอยร่นลงไปต่ำกว่าเส้นความยากจน (global poverty line) ซึ่งธนาคารโลกกำหนดไว้ที่ 1.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อวัน

เมื่อหันกลับมาดูในประเทศไทย เราจะรับมืออย่างไร ผมคิดว่าเรามีการดำเนินมาตรการ/โครงการหลายอย่างที่สามารถรับมือกับปัญหาดังกล่าวได้ หลายโครงการวางรากฐานไว้แล้ว เช่น โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ การนำระบบไอทีเข้ามาช่วยในการคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย การสร้างแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ในการซื้อขายสินค้า เป็นต้น

หลายโครงการใช้รากฐานที่ทำไว้แล้วมาต่อยอดคิดโครงการเพื่อรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การพยุงกำลังซื้อและกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการชิม ช้อป ใช้ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน การกระตุ้นกำลังซื้อ ดูแลพ่อค้าแม่ค้าผู้ประกอบการ และเพิ่มการหมุนเวียนเม็ดเงินในเศรษฐกิจฐานรากผ่านโครงการคนละครึ่งและโครงการเราชนะ

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเราต้องไม่ละเลยแนวทางในการต่อสู้กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เรายึดมั่นมาโดยตลอด คือ การกระจายความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและโอกาสต่าง ๆ ไปยังจังหวัดที่ยากจนให้มากขึ้น ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งโครงการขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานในชนบทให้มากขึ้น สร้างตำแหน่งงานในภูมิภาคให้มากขึ้นเพื่อลดการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองใหญ่ ส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้ดิจิทัลเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

แนวทางเหล่านี้จึงจะเป็นการต่อสู้กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำได้ดีที่สุด