ปรากฎการณ์ OR เข้าเทรด ปลุกกระแส ‘‘หุ้น (ขวัญใจ) มหาชน’’

OR-หุ้น

หุ้น OR หรือบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) สร้างปรากฏการณ์ “หุ้นมหาชน” ได้สมคำโฆษณาที่พยายามดึงดูดใจนักลงทุนรายย่อยให้เกิดความรู้สึกร่วมในความเป็นเจ้าของธุรกิจ

จากที่มีนักลงทุนรายย่อยจองซื้อหุ้น IPO (หุ้นสามัญที่เสนอขายแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก) ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 4.8 แสนราย โค่นแชมป์เก่าอย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ลงอย่างราบคาบ (ดูกราฟิก) ขณะที่ราคาหุ้นที่เปิดซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลท.) วันแรก

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2564 ก็ไม่ทำให้ผู้ลงทุนผิดหวัง โดยราคาเปิดทะยานขึ้นไปอยู่ที่ 26.50 บาท บวก47.2% จากราคาจองซื้อ 18.00 บาท และปิดตลาดวันแรกราคาพุ่งขึ้นไปที่ 29.25 บาท สูงกว่าราคาจองซื้อ 11.25 บาทหรือ 62.50% ทั้งยังมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 47,343.69 ล้านบาท

ดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่ 30%

โดย “จิราพร ขาวสวัสดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ OR กล่าวว่า หุ้น OR ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเป็นอย่างดี โดยมีรายการจองซื้อของรายย่อยเข้ามาถึง 5.3 แสนรายการ คิดเป็นจำนวนผู้ลงทุนประมาณ 4.8 แสนราย

“เมื่อพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่าประมาณ 30% ของรายย่อยที่จองซื้อเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ที่ไม่เคยลงทุนมาก่อน”

ทั้งนี้ บริษัทมีแผนนำเงินก้อนแรกที่ได้จากการขายหุ้น 7.46 หมื่นล้านบาทไปลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ โดยเน้นการขยายธุรกิจค้าปลีกและบริการอื่น ๆ(nonoil) และธุรกิจในต่างประเทศ

“หลังการเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น เรามอง OR เป็นหุ้นที่มีทั้งโอกาสเติบโตสูง growth stock) และเป็นหุ้นปันผล (dividend stock) โดยบริษัทมีนโยบายจ่ายปันผลไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ และมีกำหนดจ่ายปันผลปีละ 2 ครั้งเช่นเดียวกับบริษัทอื่น ๆ ในเครือ ปตท.”

แผน 5 ปี ปั๊มกำไรธุรกิจ Nonoil

สำหรับแผนธุรกิจใน 5 ปีข้างหน้า OR ยังเน้นขยายธุรกิจผ่านการขยายสาขาปั๊มน้ำมันเป็นหลัก เนื่องจากการขยายสาขาจะเป็นช่องทางให้ธุรกิจ nonoil ได้เติบโตไปพร้อม ๆ กันด้วย

โดยปัจจุบันธุรกิจน้ำมันมีสัดส่วนกำไรหลังหักค่าใช้จ่าย (EBITDA) สูงสุดที่ 68% nonoil 25% และต่างประเทศ 5-6% ซึ่งธุรกิจ nonoil สามารถสร้างกำไรขั้นต้น (margin) ได้ดีกว่าธุรกิจน้ำมัน บริษัทจึงมีแผนขยายสัดส่วนรายได้จากธุรกิจ nonoil รวมถึงใช้โอกาสนี้ขยายธุรกิจต่างประเทศให้เติบโตเพิ่มขึ้นเช่นกันโดยภายใน 5 ปีคาดการณ์ EBITDA จาก nonoil จะโตแตะ 33% และธุรกิจต่างประเทศเติบโตสู่ระดับ 13%

ขณะที่ระยะสั้นในปี 2564 บริษัทตั้งเป้าขยายปั๊มน้ำมัน “PTT Station” เพิ่มอีกประมาณ 100 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,900 สาขา โดยให้ผู้แทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ลงทุนเองทั้งหมด 80% ส่วนอีก 20% บริษัทจะลงทุนทั้งหมดเอง ซึ่งในส่วนของร้านกาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” ที่เป็นธุรกิจที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาธุรกิจ nonoil ของบริษัทตั้งเป้าขยายสาขาอีก 400 สาขา จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 3,100 สาขา

ลุ้นข่าวดีร่วมทุนธุรกิจใหม่

ในส่วนของการควบรวมกิจการ (M&A) หรือการร่วมทุน (JV) เป็นกลยุทธ์การเติบโตที่บริษัทดำเนินการมาต่อเนื่อง ล่าสุด OR ได้ร่วมลงทุนในบริษัท แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด (FLASH) ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์จัดส่งพัสดุ อีกทั้งลงทุนในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด

เจ้าของร้านกาแฟชื่อดัง “พาคามาร่า” และยังมองหาโอกาสลงทุนในธุรกิจใหม่ต่อเนื่อง โดยเน้นว่าต้องเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของคน (mobility) และการกินการใช้ของผู้คน (lifestyle)

ปีนี้ OR เตรียมเงินลงทุนอีก 10,000 ล้านบาท สำหรับ M&A และ JV ในระยะถัดไป เบื้องต้นอยู่ระหว่างเจรจากับธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ห้างสรรพสินค้าต้องปิดทำการ ตรงกันข้ามกับปั๊มน้ำมันที่ยังเปิดได้ตามปกติ

ลุ้นเข้าคำนวณดัชนีหุ้นโลก

“อนุวัฒน์ ร่วมสุข” กรรมการผู้จัดการประธานสายตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทรกล่าวว่า นอกจากหุ้น OR จะเข้าคำนวณในดัชนีหุ้น SET50 และ SET100 แล้ว OR ยังมีโอกาสเข้าคำนวณในดัชนีฟุตซี่ (FTSE) รวมถึงดัชนีจัดอันดับหุ้นระดับโลก MSCI อีกด้วย

“การเข้าคำนวณในทั้ง 4 ดัชนี จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาลงทุนใน OR และเป็นอานิสงส์เชิงบวกต่อราคาหุ้นในระยะข้างหน้า”

มั่นใจไร้ปัญหาฟรีโฟลต

ขณะที่ประเด็นสัดส่วนผู้ลงทุนรายย่อย (free float) นั้น “อนุวัฒน์” มั่นใจว่า OR ไม่มีประเด็นฟรีโฟลตแน่นอน เพราะมีสัดส่วนนักลงทุนที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประมาณ 10%

และนักลงทุนรายย่อยที่จองซื้อเข้ามาใหม่อีกราว 30% ถือว่ามีฟรีโฟลตในระดับที่สูง ซึ่งยังไม่รวมผู้ถือหุ้นรายย่อยจากกองทุนประเภทบำนาญ และกองทุนประกันสังคมอีกส่วนหนึ่ง

กรีนชู 390 ล้านหุ้น พยุงราคา

สำหรับการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (greenshoe option) จำนวน 390 ล้านหุ้นนั้น “อนุวัฒน์” กล่าวว่า เครื่องมือกรีนชูมีไว้เพื่อรักษาระดับราคาหุ้น โดยเฉพาะในกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำกว่าราคาจองซื้อ

อย่างไรก็ดี กรณี OR อาจพิจารณาออกหุ้นกรีนชูเพิ่มเติม เพื่อบริหารราคาหุ้นซึ่งจะเป็นผลประโยชน์แก่นักลงทุน ทั้งนี้ หุ้นกรีนชูมีระยะเวลาการใช้ 30 วัน นับจากวันที่เข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ

แม้จะยังต้องติดตามพัฒนาการด้านราคาหุ้นต่อไป ทว่า ที่ผ่านมาก็ถือได้ว่าหุ้น OR ได้สร้างปรากฏการณ์ โดยเฉพาะการปลุกกระแสในกลุ่มนักลงทุนรายย่อยที่จะเป็นแรงสนับสนุนธุรกิจต่อไปในอนาคต