ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัว เนื่องในวันหยุดวันประธานาธิบดี

โจ-ไบเดน ปธน.สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัว หลังตลาดปิดทำการเนื่องในวันหยุดวันประธานาธิบดี ขณะที่ตลาดจับตาสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังเริ่มมีการกระจายวัคซีนไปในหลายประเทศ ส่วนค่าเงินบาทวันนี้ปิดตลาดที่ระดับ 29.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/2) ที่ระดับ 29.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (11/2) ที่ระดับ 29.87/89 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเคลื่อนไหวในกรอบจำกัดเนื่องจากวันนี้ (15/2) ตลาดการเงินที่สหรัฐปิดทำการเนื่องในวันประธานาธิบดี อย่างไรก็ตามทางสหรัฐได้เผยรายงานที่บ่งชี้ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในสหรัฐเริ่มลดลง และมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐเปิดเผยว่า ชาวอเมริกันราว 34.7 ล้านคนจาก 331 ล้านคนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดสแรกแล้ว

นอกจากนั้น เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (12/2) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ นางเจเน็ต เยลเลน ได้ร่วมการประชุมออนไลน์กับผู้ว่าการธนาคารของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 ประเทศ (G7) นั้น นางเยลเลน เรียกร้องให้บรรดารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของกลุ่ม G7 ให้การสนับสนุนด้านการคลังมากขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยได้ย้ำถึงความสำคัญของการสนับสนุนด้านการคลังต่อไป เพื่อส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และยั่งยืน

พร้อมกันนี้ นางเยลเลนระบุด้วยว่า ประเทศในกลุ่ม G7 ควรร่วมงานกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้กับประเทศที่มีรายได้ต่ำซึ่งเผชิญความยากลำบากในการรับมือกับโรคระบาด

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐนั้น กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกอยู่ที่ระดับ 793,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งแม้ว่าต่ำกว่าระดับ 812,000 รายที่มีการรายงานในสัปดาห์ก่อนหน้านี้ แต่ก็สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 760,000 ราย

และมหาวิทยาลัยมิชิแกนเปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 76.2 ในช่วงครึ่งแรกของเดือนกุมภาพันธ์ จากระดับ 79 ในเดือนมกราคม ซึ่งตัวเลขดังกล่าวสวนทางกับการคาดการณ์ที่คาดไว้ว่า ดัชนีจะขยับขึ้นเล็กน้อยสู่ 80.8

ด้านปัจจัยในประเทศเช้าวันนี้ (15/2) สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีการเปิดเผยดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (GDP) ซึ่งสะท้อนถึงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ไตรมาส 4/2563 ออกมาที่ลดลงร้อยละ 4.2 ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ลดลงร้อยละ 5.4

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.85-29.90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/2) ที่ระดับ 1.2119/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับปิดตลาดในวันพฤหัสบดี (11/2) ที่ระดับ 1.2125/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบจำกัด

โดยตลาดรอดูตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งจะเปิดเผยในสัปดาห์นี้ และจับตาสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด หลังจากเริ่มมีการกระจายวัคซีนไปในหลายประเทศในทวีปยุโรป  ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2115-1.2144 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2137/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (15/2) ที่ระดับ 105.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (5/2) ที่ระดับ 104.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงเทียบดอลลาร์สหรัฐ โดยทางญี่ปุ่น เปิดเผยดัชนีผลิตผลภาคอุตสาหกรรมออกมาที่ลดลงร้อยละ 1.0 ในเดือนธันวาคม ซึ่งสูงกว่าสถิติเดิมของเดือนพฤศจิกายนที่ลดลงร้อยละ 1.6

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.91-105.29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.25/27 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตผลภาคอุตสาหกรรมสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (15/2), ดุลการค้าสหภาพยุโรป เดือนธันวาคม (15/2), ดุลการค้าญี่ปุ่น เดือนธันวาคม (17/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหราชอาณาจักร (17/2), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหราชอาณาจักร เดือนมกราคม (17/2), ยอดค้าปลีกสหรัฐ เดือนมกราคม (17/2), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนมกราคม (17/2),

ดัชนีการจ้างงานจากธนาคารกลางรัฐฟิลาเดลเฟียสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (18/2), จำนวนใบอนุญาตก่อสร้างสหรัฐเดือนมกราคม (18/2), จำนวนที่อยู่อาศัยเริ่มสร้างสหรัฐเดือนมกราคม (18/2), จำนวนคนขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (18/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่นเดือนมกราคม (19/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหราชอาณาจักรโดยสถาบันจีเอฟเค (Gfk) เดือนกุมภาพันธ์ (19/2),

ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (19/2), ยอดค้าปลีกสหราชอาณาจักร เดือนมกราคม (19/2), ดัชนีราคาผู้ผลิตเยอรมัน เดือนมกราคม (19/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเยอรมัน เดือนกุมภาพันธ์ (19/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (19/2), ยอดขายบ้านมือสองสหรัฐ เดือนมกราคม (19/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.3/0.4 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 2.402.95 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ