แบงก์ดิ้นปั๊มรายได้ค่าฟีปี’64 โหมรับจ้างบริหารความมั่งคั่งยุคดอกเบี้ยต่ำ

เงินบาท

แบงก์เดินหน้าปั้นค่าฟีจากธุรกิจ “เวลท์” ช่วยประคองรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งระบบปี’64 ที่ยังชะลอตัว “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ประเมินภาพรวมค่าฟีแบงก์ปีนี้อยู่ในช่วง -3 ถึง 1% จากปีก่อนหดตัว -10% แบงก์ “กสิกรฯ-ซีไอเอ็มบี ไทย” ชี้ค่าฟีหมวดค่านายหน้า-ลงทุน ตอบโจทย์ช่วงดอกเบี้ยต่ำ-สินเชื่อชะลอ ลุยปั๊มพอร์ตโต-เร่งเครื่องขยายฐานลูกค้า

นางสาวธัญญลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 นี้ แม้จะคาดว่ารายได้ค่าธรรมเนียม (ฟี) จะยังชะลอตัว โดยเติบโตในช่วง -3 ถึง 1% จากปี 2563 ที่มีอัตราการเติบโตติดลบราว -10% แต่ค่าธรรมเนียมในหมวดค่านายหน้า ประกัน และกองทุน ยังคงเป็นหมวดรายได้ที่น่าสนใจ และน่าจะเพิ่มขึ้นได้อีก จาก ณ สิ้นปี 2562 สัดส่วนเทียบกับค่าธรรมเนียมรวมอยู่ที่ 20.5% และล่าสุดในไตรมาส 3 ปี 2563 สัดส่วนขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 22.5%

ซึ่งปีนี้ เนื่องจากภาวะตลาดที่มีการฟื้นตัว ทั้งตลาดหุ้นต่างประเทศ และสินทรัพย์ลงทุนอื่น โดยอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้คนหันไปสู่ผลิตภัณฑ์การลงทุนมากขึ้น สอดคล้องกับธนาคารพาณิชย์ที่มีผลิตภัณฑ์ทางด้านการออมและลงทุนออกมาตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นด้วย

“มองไปข้างหน้า ค่าฟีในหมวดค่านายหน้า ก็ยังเป็นรายได้สำคัญของแบงก์ โดยแบงก์พยายามบุกตลาดนี้มากขึ้น เพราะเป็นกลุ่มที่ตลาดเอื้อต่อการเติบโตในช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้คนสนใจโปรดักต์การออมและการลงทุนมากขึ้น ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อย”

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Private Banking Group Head ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แหล่งรายได้จากบริการบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) เป็นแหล่งรายได้ที่มีความยั่งยืน และมีโอกาสเติบโตในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่คนไทยต้องการสร้างผลตอบแทน ซึ่งไม่เฉพาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ แต่รวมถึงกลุ่มที่มีรายได้ประจำ ทำให้ทุกธนาคารมองเห็นโอกาสและพยายามโฟกัสธุรกิจนี้ wealth มากขึ้น

“ค่าฟีจากธุรกรรมการลงทุน แม้ว่าตอนนี้สัดส่วนจะไม่ใหญ่มาก แต่รีเทิร์นมาเป็นเม็ดเงินกำไรสูงมาก ซึ่งทุกแบงก์มองเห็นตรงนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกแบงก์โดดลงมาเล่น”

ขณะที่กสิกรไทย Private Banking จะพยายามขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ลงทุนรายใหญ่ (high net worth) กลุ่มคนที่มีรายได้ (affluent) กลุ่มรายได้ปานกลาง-ทำธุรกิจส่วนตัว (middle income) และกลุ่มบุคคลทั่วไป (mass) โดยเฉพาะ 3 กลุ่มแรก คาดว่ามีจำนวนกว่า 1.1 ล้านราย จากฐานลูกค้าของธนาคารที่มีรวมกว่า 10 ล้านราย ซึ่งจะให้เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ (RM) ดูแลให้ลูกค้าเข้าถึงการลงทุนมากขึ้น จากปัจจุบันฐานลูกค้ากลุ่ม high net worth และ affluent ที่มีราว 2-3 แสนคน แต่ยังเข้าถึงการลงทุนเพียง 1.1 หมื่นราย หรือไม่ถึง 10%

“ธนาคารต้องการเพิ่มส่วนแบ่งสินทรัพย์การลงทุน (share of wallet) ของลูกค้าจาก 2 ส่วน คือ สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง และสินทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่อง เช่น ที่ดิน โดยเฉพาะการเปลี่ยนที่ดินเป็นการลงทุนผ่าน “land loan for investment” คาดว่ามีมากถึง 2-3 เท่าของสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 8 แสนล้านบาท จากฐานลูกค้า 1.1 หมื่นราย ทั้งนี้ เราพยายามขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้น ด้วย RM ที่มี 50-60 คน และดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อดูแลการลงทุนมากขึ้น เน้นเอาโปรดักต์การลงทุน และ land loan เข้าไปเสนอกลุ่มเป้าหมาย 1.1 ล้านรายนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน
และใช้เวลา แต่เราจะโหมทำตรงนี้”

นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออมและกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ธนาคารหันมารุกธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง เพราะเป็นธุรกิจสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมได้ยั่งยืน มีสัดส่วนการเติบโตประมาณ 25% ต่อปี และเป็นธุรกิจที่ไม่ต้องใช้เงินกองทุน ไม่ต้องห่วงหนี้เสีย แม้ว่าจะมีเรื่องเกณฑ์การให้บริการอย่างเป็นธรรม (market conduct)

นอกจากนี้ พบว่าคนมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5-8% ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำลงต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่ดีกว่า ประกอบกับสินทรัพย์การลงทุนมีหลากหลายมากขึ้น จากเดิมมีแค่เงินฝาก ประกัน ปัจจุบันมีกองทุน หุ้นกู้ และตราสารหนี้ เป็นทางเลือกให้ลูกค้า

“ตอนนี้ตลาดเอื้อมาก และไทยก็เริ่มผ่อนคลายให้สามารถลงทุนในต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นทางเลือกในการเติบโตของธุรกิจมากขึ้น และหากดูผลตอบแทนเงินฝากไม่ถึง 1% เทียบกองทุนที่ให้ผลตอบแทน 10% หรือ 20% คนก็หันมาลงทุนมากขึ้น หากเราช่วยลูกค้าจัดพอร์ตตามความเสี่ยง คาดปีนี้น่าจะเห็นผลตอบแทน (ยีลด์) 8% ส่วนรายได้ค่าฟีคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้รวมรายย่อย หรือตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 25%”

นายพิชิต จงสฤษดิ์หวัง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์รายย่อย ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ถือเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสำคัญให้กับธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ โดยในช่วงที่ผ่านมาแบงก์หันมาเติบโตในธุรกิจนี้มากขึ้นในภาวะที่ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้รายได้จากสินเชื่อไม่ได้ขยายตัวมากนัก

“ธนาคารกรุงไทยได้เร่งพัฒนาทักษะพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการวางแผนทางการเงิน (financial planner) หรือการให้คำปรึกษาทางด้านการลงทุน (FA) ซึ่งจะเน้นตอบโจทย์ลูกค้าผ่านการลงทุนที่หลากหลายทั้งกลุ่มระดับบนและระดับกลางและรายย่อย ที่สามารถลงทุนผ่านแอปพลิเคชั่นได้เอง”