กรุงศรีฯ กาง 4 กลยุทธ์รับมือโควิด ชี้เห็น “หนี้เสีย” พีกสุดมี.ค.แตะ 4%

ณญาณี-กรุงศรี คอนซูมเมอร์

กรุงศรี คอนซูมเมอร์ รับโควิด-19 กระทบคุณภาพสินเชื่อ คาดเห็นเอ็นพีแอลส่วนบุคคลพีคสุดม.ค.-มี.ค.นี้ แตะ 4% พร้อมปรับแผนธุรกิจปี 64 รับมือวิกฤต เดินหน้า 4 กลยุทธ์หลัก ดึงเทคโนโลยีลดภาระงาน-ดึงข้อเชิงลึกมูลวิเคราะห์ลูกค้า-จับมือบริษัทในเครือ-พันธมิตรแสวงหารายได้ใหม่ ตั้งเป้ายอดใช้จ่าย 3.05 แสนล้านบาท หรือเติบโต 9%

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาวณญาณี เผือกขำ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยแผนการกำเนินธุรกิจในปี 2564 ภายใต้ “2021 Business Direction” ว่า แนวโน้มธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลยังคงเผชิญกับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจ ทำให้คนมีภาวะว่างงานกระทบกำลังซื้อ ซึ่งมีผลต่อการยอดการสมัครสินเชื่อใหม่ รวมถึงอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะปรับเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นอัตราเอ็นพีแอลปรับขึ้นสูงสุดในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม 2564 นี้ โดยสินเชื่อส่วนบุคคลเอ็นพีแอลจะไปอยู่ในระดับ 4%

อย่างไรก็ดี มองว่าจากมาตรการช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องระยะที่ 1-2 ในปีที่ผ่านมา และต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2564 จะทำให้เอ็นพีแอลไม่ได้เร่งเพิ่มขึ้นรุนแรง เพราะจะเห็นว่า ตัวเลขเอ็นพีแอล ณ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2563 สินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 1.2% และสินเชื่อส่วนบุคคลอยู่ที่ 3.4% ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหรรม

“ส่วนหนึ่งจากมาตรการที่เราช่วยเหลือลูกค้าต่อเนื่องในปี 63 ทำให้เอ็นพีแอลเราอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าปี 62 และในปี 64 นี้เรายังคงมีมาตรการช่วยเหลือยาวถึงสิ้นปี 64 จากตัวเลขที่มีลูกค้าเข้าโครงการทั้งสิ้น 1.02 แสนราย ยอดสินเชื่อคงค้างที่ช่วยเหลือไป 4.79 พันล้านบาท” นางสาวณญาณีกล่าว

สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2564 จึงปรับแผนธุรกิจเน้นการบริหารคุณภาพสินเชื่ออย่างรัดกุม และดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและบริหารค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวาง 4 กลยุทธ์หลัก คือ 1.การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน (Digital Transformation & Process Automation) เช่น การใช้ระบบดิจิทัล เวิร์คโฟลว์ และการนำหุ่นยนต์มาใช้ในกระบวนการทำงานที่มีการทำซ้ำ (Robotic Process Automation-RPA) ช่วยลดชั่วโมงการทำงานได้ 2,833 ชั่วโมง/เดือน หรือการพัฒนาฟีเจอร์บนแอปพลิเคชั่น UCHOOSE ที่ปัจจุบันมีผุ้ใช้งาน 6 ล้านคน

2.การนำศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกมาใช้ (Data Intelligence Capabilities เพื่อให้เข้าใจความต้องการของลูกค้า และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงใจลูกค้ายิ่งขึ้น 3.การผสานความร่วมมือกับบริษัทในเครือกรุงศรี และพันธมิตรชั้นนำทางธุรกิจ (Ecosystem & Partnership) เพื่อเพิ่มโอกาสการขยายฐานลูกค้า และแสวงหาแหล่งรายได้ใหม่ และ 4.การพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อก้สวให้ทันโลกธุรกิจยุคใหม่ (Support for Game Changer)

สำหรับเป้าหมายทางธุรกิจการเติบโตในปี 2564 ตั้งเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตร (Spending) อยู่ที่ 3.05 แสนล้านบาท หรือเติบโต 9% ยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ 8.8 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 11% ยอดสินเชื่อคงค้าง 1.48 แสนล้านบาท เติบโต 3% และบัญชีลูกค้าใหม่ 5.83 แสนบัญชี หรือเติบโต 19% โดยจะเน้นไปในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ที่ยังไม่ได้ใช้สินเชื่อ

ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2563 ถือเป็นที่ท้าทายจากผลกระทบโควิด-19 โดยตัวเลขยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรหดตัว -11% ยอดอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้างหดตัว -4% อยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท และจำนวนบัญชีใหม่หดตัว -51% อยู่ที่ 4.88 แสนบัญชี จากเดิมแต่ละปีจะอยู่ที่เฉลี่ย 9 แสนบัญชี ขณะที่สินเชื่อปล่ยอใหม่หดตัว -21% อยู่ที่ 7.9 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี แม้ว่าผลกการดำเนินงานจะลดลงเมื่อเทียบกับปี 62 แต่ถือว่าได้รับผลกระทบน้อยกว่าที่คาดไว้