ดอลลาร์แข็งค่า จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

ค่าเงินบาท-ดอลลาร์สหรัฐ

ดอลลาร์แข็งค่า จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ แตะระดับสูงสุดในรอบปี นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเดือนมกราคมของธนาคารกลางสหรัฐ ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 29.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/2) ที่ระดับ 29.97/98 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันอังคาร (16/2) ที่ระดับ 29.87/88 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลหลัก โดยเฉพาะเยนและยูโร หลักอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ประเภทอายุ 10 ปี ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 1.2476% โดยอยู่เหนือระดับ 1.3% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งเป็นระดับก่อนช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยการปรับตัวนั้นทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจหลัก ๆ อื่น อาทิ ญี่ปุ่น ยูโรโซน โดยเปรียบเทียบ

นอกจากนี้ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนจากที่ธนาคารกลางสหรัฐสาขานิวยอร์ก รายงานว่าดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ปรับตัวขึ้น 8.6 จุด แตะระดับ 12.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2563 ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้เพียงที่ระดับ 5.9

ทั้งนี้นักลงทุนจับตารายงานการประชุมเดือนมกราคมของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งมีกำหนดเปิดเผยในวันนี้ (17/2) ตามเวลาสหรัฐ เพื่อจับตาทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้ส่งสัญญาณเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า เฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน

โดยระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.965-30.01 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.98/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/2) ที่ระดับ 1.2087/91 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16/2) ที่ระดับ 1.2151/53 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยค่าเงินยูโรอ่อนค่าจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ ถึงแม้ว่าสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโร สแตท) เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนประจำไตรมาสที่ 4/2563 หดตัวลง 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นว่า GDP ไตรมาส 4 หดตัวลง 0.7% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส

อย่างไรก็ตามทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMP) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2564 สู่ระดับ 4.2% จากเดิมที่ระดับ 5.2%

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2063-1.2109 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2074/76 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (17/2) ที่ระดับ 106.10/11 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (16/2) ที่ระดับ 105.33/34 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

เงินเยนได้รับแรงกดดันจากที่นักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวได้ดีหลังจากเริ่มมีการกระจายและฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยมีความน่าสนใจน้อยลง

สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ได้เปิดเผยวันนี้ (17/2) กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยรายงานยอดส่งออกเดือนมกราคมพุ่งขึ้น 6.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในจีนและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 แล้ว โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.82-106.21 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.89/91 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกของสหรัฐเดือนมกราคม (17/2), ดัชนีราคาผู้ผลิตสหรัฐเดือนมกราคม (17/2), ยอดผลผลิตอุตสาหกรรมของสหรัฐเดือนมกราคม (17/2), ตัวเลขผู้รับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (18/2), ตัวเลขการสร้างบ้านของสหรัฐเดือนมกราคม (18/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการของญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (19/2),

ยอดค้าปลีกของสหราชอาณาจักรเดือนมกราคม (19/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการของเยอรมนี เดือนกุมภาพันธ์ (19/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (19/2), ยอดขายบ้านมือสองของสหรัฐ เดือนมกราคม (19/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.55/0.70 สตางค/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.20/4.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ