ดอลลาร์ผันผวน จับตาเงินเฟ้อสูง กดดันเฟดปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ

หุ้น-ดอลลาร์-ขนส่ง-น้ำมัน

ดอลลาร์ผันผวน ท่ามกลางการจับตาเงินเฟ้อสูง หลังราคาน้ำมันและพลังานเพิ่มขึ้น อาจกดดันธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าเงินบาทวันนี้เคลื่อนไหวในกรอบ 29.85-30.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 29.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราระหว่างวันที่ 15-19 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (15/2) ที่ระดับ 29.88/90 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (12/2) ที่ระดับ 29.89/91 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ในช่วงต้นสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบเงินสกุลหลัก จากการที่นักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อการฟื้นฟูของสภาพเศรษฐกิจโลก หลังจากความคืบหน้าในการกระจายวัคซีนโควิด-19 และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศ

ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจงบประมาณ 1.9 ล้านล้านเหรียญของรัฐบาลโจ ไบเดน ส่งผลให้นักลงทุนเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ เงินดอลลาร์สหรัฐและทองคำออกมา และเข้าไปถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสู่ระดับ 29.85 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ (16/2)

ก่อนที่ในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ 1.2% สู่ระดับ 1.33% ซึ่งเป็นระดับก่อนช่วงที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

บ่งชี้ให้เห็นถึงมุมมองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐและการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อตามราคาพลังงานและน้ำมันที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ยังได้รับปัจจัยบวกจากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารกลาง (เฟด) สาขานิวยอร์กเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตปรับตัวขึ้น 8.6 จุดแตะระดับ 12.1 ในเดือน ก.พ. และกระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงาน ยอดค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.3% ในเดือน ม.ค. ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นั้น นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐได้ระบุในรายงานการประชุมครั้งล่าสุดว่า จะยังคงเดินหน้านโยบายเชิงผ่อนคลายต่อไปเพื่อกระตุ้นการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน

อย่างไรก็ดี ในช่วงท้ายสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์ลดแรงบวกลงอีกครั้ง ภายหลังการเปิดเผยตัวเลขการว่างงานในสหรัฐที่สูงกว่าคาด ซึ่งสร้างความผิดหวังต่อตลาดที่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้น หลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

นอกจากนี้ การที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีราคานำเข้าในเดือน ม.ค.พุ่งขึ้น 1.4% เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งสูงสุดรอบเกือบ 9 เดือน เป็นการส่งสัญญาณเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า และอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

สำหรับปัจจัยภายในประเทศนั้น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผย ดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (GDP) ไตรมาส 4/2563 อยู่ร้อยละ 4.2 ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 5.4

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 29.85-30.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (19/2) ที่ระดับ 29.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดวันจันทร์ (15/2) ที่ระดับ 1.2119/20 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/2) ที่ระดับ 1.2125/27 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยค่าเงินยูโรปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงต้นสัปดาห์ จากการรีบาวน์ของบอนด์ยีลด์สหรัฐ

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจนั้น สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของยูโรโซนประจำไตรมาสที่ 4/2563 ขยายตัวลดลง 0.6% เมื่อเทียบเป็นรายไตรมาส ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้น

นอกจากนี้ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2564 ลงจากระดับ 5.2% สู่ระดับ 4.2%

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์ ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากแรงกดดันของภาคตลาดแรงงานในสหรัฐ หลังจากตัวเลขำนวนผู้ขอสวัสดิการว่างงานสหรัฐยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสู่ระดับ 861,000 ราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือนและสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 773,000 ราย

ทั้งนี้ในระยะสั้นการแข็งค่าของค่าเงินยูโรยังคงค่อนข้างจำกัด หลังจากนางอัลเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีและผู้ว่าทั้ง 16 รัฐ มีมติเห็นชอบให้ขยายมาตรการล็อกาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ออกไปจนถึงวันที่ 7 มีนาคม จากเดิมที่กำหนดไว้ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2036-1.2165 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2123/25 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันจันทร์ (15/2) ที่ระดับ 105.05/07 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (12/2) ที่ระดับ 104.73/75 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

โดยในช่วงต้นสัปดาห์ค่าเงินเยนได้รับแรงกดดันจากการที่นักลงทุนมีมุมมองว่าเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวได้ดีหลังจากเริ่มมีการกระจายและฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในหลายประเทศ ส่งผลให้มีแรงเทขายสินทรัพย์ปลอดภัยออกมา

ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าระหว่างสัปดาห์สู่ระดับ 106.20 หลังจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ก่อนที่จะปรับตัวลงมาสู่ระดับ 105.50 ในช่วงปลายสัปดาห์ หลังจากรายงานการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อดีกว่าคาดจากระดับ -1.2% สู่ระดับ -0.6%

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังเปิดเผยรายงานยอดส่งออกเดือนมกราคมปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งในจีนและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.97-106.20 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ 105.38/40 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ