ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัว ขานรับการกระจายของวัคซีนต้านโควิด-19

ดอลลาร์สหรัฐ
(File Photo by JOEL SAGET / AFP)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทรงตัวในแนวอ่อนค่า ขานรับการกระจายของวัคซีนต้านโควิด-19 ดัชนี PMI ยังอยู่เหนือระดับ 50 บ่งชี้ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวปริวรรตเงินตราประจำวันจันทร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/2) ที่ระดับ 29.95/97 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/2) ที่ระดับ 29.97/99 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเทียบค่าเงินสกุลหลักในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่ดีเกินคาด โดยไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 58.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 71 เดือน จากระดับ 58.7 ในเดือนมกราคม

โดยดัชนี PMI ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะขยายตัว ทั้งภาคการผลิตและบริการ

ด้านสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 สู่ระดับ 6.69 ล้านยูนิตในเดือนมกราคม สวนทางกับระดับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 สู่ระดับ 6.61 ล้านยูนิต

โดยยอดขายบ้านมือสองได้รับแรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่อยู่ในระดับต่ำ และการขาดแคลนบ้านว่างพร้อมขายในตลาด เมื่อเทียบรายปี ยอดขายบ้านมือสองปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 ในเดือนมกราคม ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563

ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.97-30.04 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/2) ที่ระดับ 1.2134/35 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ทรงตัวจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/2) ที่ระดับ 1.2135/36 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

โดยช่วงเย็นวันศุกร์ (19/2) สถาบันไอเอชเอส มาร์กิต เปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการเบื้องต้นขอสหภาพยุโรป ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 48.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 เดือน จากระดับ 47.8 ในเดือนมกราคม แม้ระดับที่ต่ำกว่า 50 ยังคงบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตและบริการก็ตาม

ค่าเงินยูโรนั้นยังคงทรงตัวในแนวแข็งค่าสอดคล้องกับค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิง โดยทางด้านค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงนั้นปรับตัวแข็งค่าขึ้นเหนือระดับ 1.4000 เทียบดอลลาร์สหรัฐ ขานรับการกระจายวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ซึ่งนักลงทุนถือเป็นสัญญาณสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร

โดยนักลงทุนคาดว่ารัฐบาลจะสามารถผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้เร็วขึ้น และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2089-1.2135 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.2102/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (22/2) ที่ระดับ 105.46/49 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าจากระดับปิดตลาดในวันศุกร์ (19/2) ที่ระดับ 106.35/37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินเยนปรับตัวอ่อนค่าในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยหลังจากที่นักลงทุนคลายความกังวลเรื่องการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยวัคซีนไวรัสโควิด-19 กระจายไปในประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญทั่วโลกอย่างรวดเร็ว หลายประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ให้กับประชาชนและส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันลดลง

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 105.33-105.84 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.78/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมัน โดยสถาบันไอเอฟโอ (Ifo) เดือนกุมภาพันธ์ (22/2), ดัชนีรายได้เฉลี่ยรวมโบนัสสหราชอาณาจักร เดือนธันวาคม (23/2), อัตราการว่างงานสหราชอาณาจักร (23/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือนมกราคม (23/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ โดยสถาบันซีบี (CB) เดือนกุมภาพันธ์ (23/2),

ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนมกราคม (24/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเยอรมัน ไตรมาส 4/2563 (24/2), ยอดขายบ้านสร้างใหม่สหรัฐเดือนมกราคม (24/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมัน โดยสถาบันจีเอฟเค (GfK) เดือนมีนาคม (25/2), ดุลการค้าไทย เดือนมกราคม (25/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือนกุมภาพันธ์ (25/2), คำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือนมกราคม (25/2),

ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศสหรัฐ ไตรมาส 4/2563 (25/2) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (25/2), ยอดขายบ้านที่รอการปิดการขายสหรัฐ เดือนมกราคม (25/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (26/2), ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือนมกราคม (26/2), ดัชนีผลิตผลภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือนมกราคม (26/2), ดัชนีผลิตผลภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนมกราคม (26/2),

ดัชนีราคาบ้านสหราชอาณาจักรโดยสถาบันเนชันไวด์ (Nationwide) (26/2), ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐ เดือนมกราคม (26/2), ดุลการค้าสหรัฐเดือนมกราคม (26/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเขตชิคาโกสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (26/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิชิแกนสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (26/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.6/0.8 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ 3.50/4.00 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ