รัฐวิสาหกิจกระอักพิษ “โควิด” รายได้นำส่งวูบหนัก-คลังกู้โปะขาดดุลพุ่ง

รัฐวิสาหกิจอ่วม “โควิด-19” กระทบรายได้ส่งคลัง เผยไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2564 ต่ำเป้า 2 หมื่นล้านบาท ฉุดภาพรวมรายได้รัฐบาลวูบเฉียด 4 หมื่นล้านบาท ต้องกู้ชดเชยขาดดุลสูงกว่าปีก่อนกว่า 1,000% สคร.เร่งนัดบอร์ด คนร.ถกนโยบายดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี’64 ลุยแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งต่อ พร้อมเร่งเบิกจ่ายงบฯลงทุนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.07 แสนล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.-ธ.ค. 2563) รัฐวิสาหกิจมีรายได้นำส่งเข้าคลังทั้งสิ้น 30,711 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 50,990 ล้านบาทไปทั้งสิ้น 20,279 ล้านบาท หรือต่ำกว่าเป้า 39.8% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีงบประมาณก่อนที่มีรายได้นำส่ง 72,387 ล้านบาท พบว่าการนำส่งรายได้ในปีนี้ต่ำกว่าปีก่อนถึง 41,676 ล้านบาท หรือ 57.6%

โดยภาพรวมการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในไตรมาสแรกอยู่ที่ 515,749 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการไป 39,998 ล้านบาท หรือ 7.2% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 32,225 ล้านบาท หรือ 15.2%

ทั้งนี้ นอกจากรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้หดตัวลงไปมากแล้ว รายได้ของ 3 กรมภาษีก็จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการไป 23,063 ล้านบาท หรือ 4.2% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 53,389 ล้านบาท หรือ 9.3% โดยกรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไป 18,460 ล้านบาท หรือ 5% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 40,258 ล้านบาท หรือ 10.2%

ขณะที่ฐานะการคลังในช่วงไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 605,797 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 1,018,301 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้กู้ชดเชยการขาดดุลไปทั้งสิ้น 340,810 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนที่กู้เพียง 26,314 ล้านบาท ถึง 1,195.2% ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 473,001 ล้านบาท

“ผลกระทบมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบกับการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจหลายแห่งยังมีภารกิจช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิดด้วย ทั้งการประปาฯ และการไฟฟ้าฯ” แหล่งข่าวกล่าว

นางปานทิพย์ ศรีพิมล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า สคร.จะหารือร่วมกับสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวันเวลาการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน เพื่อรับทราบนโยบายการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจปี 2564 ขณะเดียวกัน สคร.จะรายงานให้ที่ประชุมได้รับทราบถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจ รวมถึงความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งตามนโยบายของ คนร.ก่อนหน้านี้ด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา สคร.ได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายมากที่สุด โดยรัฐวิสาหกิจที่เบิกจ่ายตามปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 34 แห่ง มีกรอบการเบิกจ่ายรวม 307,963 ล้านบาท โดยในช่วง 3 เดือนของปีงบประมาณ 2564 (ต.ค.-ธ.ค. 2563) เบิกจ่ายแล้ว 60,799 ล้านบาท ส่วนรัฐวิสาหกิจตามปีปฏิทินอีก 10 แห่ง อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล

“การเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะต้องให้เป็นไปตามเป้ามากที่สุด เพราะการลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะเป็นตัวช่วยกระตุ้นและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย” นางปานทิพย์กล่าว

ส่วนการดำเนินการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจตามนโยบาย คนร.นั้น นางปานทิพย์กล่าวว่า ปัจจุบันเนื่องจากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการซึ่งเป็นกระบวนการของศาลล้มละลายไปแล้ว ขณะที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ก็ได้ดำเนินการควบรวมเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (เอ็นที) ไปแล้ว ส่วนธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ก็ผ่านการฟื้นฟูไปแล้ว

“ขณะนี้เหลืออีก 2 แห่ง คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่ต้องเร่งแผนฟื้นฟูกิจการให้มีความชัดเจน” นางปานทิพย์กล่าว

รายงานจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า บอร์ด คนร. มีการประชุมครั้งสุดท้ายไปตั้งแต่เมื่อเดือน มิ.ย. 2563 จากปกติที่จะต้องมีการประชุมเพื่อติดตามการทำงานของรัฐวิสาหกิจทุกเดือน แต่เนื่องจากที่ผ่านมา มีทั้งการปรับเปลี่ยนคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมถึงเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการประชุมออกมาเป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว