ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า จับตาถ้อยแถลงประธานเฟดต่อวุฒิสภาคืนนี้

เจอโรม พาวเวลล์
เจอโรม พาวเวลล์

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง จับตาถ้อยแถลงประธานเฟดต่อวุฒิสภาคืนนี้ หลังนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในภูมิภาคต่างๆ คาดเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ ขณะที่เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 30.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพ รายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/3) ที่ระดับ 29.98/30.00 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดในวันจันทร์ (22/2) ที่ระดับ 30.04/05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในภูมิภาคต่าง ๆ และความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศเริ่มดีขึ้น

  • เปิดแผนกระจาย-ฉีด “วัคซีนโควิด” ทั่วประเทศ รวม 63 ล้านโดส

ทำให้นักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น จึงเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเข้าไปถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น

ขณะที่นักลงทุนจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานาธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งจะแถลงต่อคณะกรรมาธิการธนาคารประจำวุฒิสภาในวันนี้ (23/2) และแถลงต่อคณะกรรมาธิการบริการการเงินประจำสภาผู้แทนราษฎรในวันพรุ่งนี้ (24/2)

โดยถ้อยแถลงของนายพาวเวลครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนกำลังกังวลว่าการดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และตัวเลขเงินเฟ้อที่ส่งสัญญาณพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจผลักดันให้เฟดยุติการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน

ในส่วนของค่าเงินบาทเปิดตลาดแข็งค่าเล็กน้อยจากปิดตลาดเมื่อวานนี้ (22/2) ในขณะที่ช่วงเช้าวันนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่า 19,706 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 0.35% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน

ด้านการนำเข้าเดือนมกราคม 2564 ของไทยมีมูลค่า 19,908 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัว 5.24% เป็นผลมาจากมูลค่าสินค้าที่นำเข้ามาสูงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีการค้าขาดดุล 202 ล้านเหรียญสหรัฐ

นอกจากนี้ทาง สนค.คาดการณ์การส่งออกครึ่งปีแรกอยู่ที่ 3-5% การส่งออกครึ่งปีหลังคาดว่าอยู่ที่ 3-4% ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังมาจากปัญหาโควิด-19 การขนส่ง และค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 29.99-30.02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนปิดตลาดที่ระดับ 30.01/02 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/2) ที่ระดับ 1.2169/72 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/2) ที่ระดับ 1.2102/04 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ค่าเงินยูโรปรับตัวแข็งค่าหลังประกาศดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนีจากสถาบัน Ifo ในเดือนกุมภาพันธ์ อยู่ที่ระดับ 92.4 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 90.5 และเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคมที่ระดับ 90.3

ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.2143-1.2179 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลดที่ระดับ 1.2149/51 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (23/2) ที่ระดับ 104.94/95 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันจันทร์ (22/2) ที่ระดับ 105.78/81 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเงินเยนแข็งค่่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะเป็นสกุลเงินปลอดภัยเหมือนกัน เนื่องจากตลาดยังไม่มีทิศทางที่แน่นอน

และจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ, อัตราเงินเฟ้อ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐ ซึ่งมีผลกระทบต่อนักลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 104.91-105.31 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 105.27/29 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ

ดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือนมกราคม (23/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ โดยสถาบันซีบี (CB) เดือนกุมภาพันธ์ (23/2), ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนมกราคม (24/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเยอรมัน ไตรมาส 4/2563 (24/2), ยอดขายบ้านสร้างใหม่สหรัฐเดือนมกราคม (24/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเยอรมัน โดยสถาบันจีเอฟเค (GfK) เดือนมีนาคม (25/2),

ดุลการค้าไทย เดือนมกราคม (25/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือนกุมภาพันธ์ (25/2), คำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐเดือนมกราคม (25/2), ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศสหรัฐ ไตรมาส 4/2563 (25/2) จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสหรัฐ (25/2), ยอดขายบ้านที่รอการปิดการขายสหรัฐเดือนมกราคม (25/2),

ดัชนีราคาผู้บริโภคญี่ปุ่น เดือนกุมภาพันธ์ (26/2), ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือนมกราคม (26/2), ดัชนีผลิตผลภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือนมกราคม (26/2), ดัชนีผลิตผลภาคอุตสาหกรรมไทย เดือนมกราคม (26/2), ดัชนีราคาบ้านสหราชอาณาจักรไทย สถาบันเนชันไวด์ (Nationwide) (26/2),

ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐ เดือนมกราคม (26/2), ดุลการค้าสหรัฐเดือนมกราคม (26/2), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเขตชิคาโกสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (26/2), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมิชิแกนสหรัฐ เดือนกุมภาพันธ์ (26/2)

สำหรับอัตราป้องกันความเสี่ยง (Swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ 0.35/0.60 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยง ภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศ อยู่ที่ 3.50/4.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ