รายได้หด-หนี้ครัวเรือนขาขึ้น สศช.ห่วง 3 ปัจจัยเสี่ยง คนตกงานพุ่ง

คนตกงาน
File Photo : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

สศช.เผยอัตราว่างงานปี’63 พุ่งสู่ระดับ 1.69% จากปีก่อนอยู่ที่ 0.98% ปม “ล็อกดาวน์ประเทศ” จากการระบาดของ “โควิด-19” ทำคนตกงานมากขึ้น เล็งออกมาตรการรักษาจ้างงานภาคบริการรับมือผลกระทบจากการระบาด “ระลอกใหม่” ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังคงเป็น “ขาขึ้น” ล่าสุดอยู่ที่ 86.6%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 ปี 2563 มีผู้ว่างงานกว่า 727,000 ราย คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.86% ถือว่ามีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1.90% และช่วงไตรมาส 2 ที่อยู่ที่ 1.95% ทั้งนี้ เฉลี่ยทั้งปี 2563 มีผู้ว่างงานอยู่ที่ราว 650,000 คน หรืออัตราการว่างงาน 1.69% เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่ที่ 0.98% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องมีการล็อกดาวน์ประเทศในช่วงที่ผ่านมา

“ปีที่ผ่านมา ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น และชั่วโมงการทำงานโดยเฉลี่ยลดลง ซึ่งชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนอยู่ที่ 43.2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจาก 45.8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือลดลง 5.7% ขณะที่แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ลดลง 17.1% ส่วนหนึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง และอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยการรักษาการจ้างงานยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะภาคบริการ”

ทั้งนี้ สศช.อยู่ระหว่างหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมโครงการรักษาการจ้างงาน เพื่อออกมาดูแลในระยะต่อไป โดยในปี 2564 ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านแรงงาน ได้แก่ 1) ความไม่แน่นอนของโควิด-19 ระลอกใหม่ และผลกระทบทางเศรษฐกิจ แม้จะมีวัคซีนป้องกันเข้ามา แต่การกระจายยังล่าช้า 2) สถานการณ์ภัยแล้ง อาจกระทบต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรโดยเฉพาะในกลุ่มพืชที่ใช้น้ำมาก และ 3) การขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เป็นต้น

ขณะที่หนี้ครัวเรือนล่าสุด ในไตรมาส 3 ปี 2563 มีมูลค่า 13.77 ล้านล้านบาท หรือสัดส่วน 86.6% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าตามเศรษฐกิจที่หดตัวจากผลของโควิด-19 ส่วนความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 2563 ยอดคงค้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพื่อการอุปโภคบริโภคมีมูลค่า 144,329 ล้านบาท คิดเป็น 2.91% ของสินเชื่อรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 3.12% เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือและการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชะลอการด้อยคุณภาพของสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมคุณภาพสินเชื่อดีขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังต้องเฝ้าระวังความสามารถในการชำระหนี้ เนื่องจากในไตรมาส 3 ปี 2563 สัดส่วนหนี้ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลมีสัดส่วนสูงถึง 6.7% ต่อสินเชื่อรวม ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงที่จะกลายเป็น NPL หากมีปัจจัยลบมากระทบต่อรายได้หรือความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน


นายดนุชา กล่าวว่า คาดว่าในระยะถัดไปหนี้ครัวเรือนจะยังเพิ่มขึ้น ตามการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ รวมถึงกิจกรรมเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว จะทำให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลได้แก้ปัญหาหนี้สินในวงกว้างและเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง แต่โควิด-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนมากขึ้น ซึ่งจะฉุดรั้งเศรษฐกิจ