แบงก์เกาะติดฟันด์โฟลว์ไหลออก ทำเงินบาทขยับอ่อนค่า

ธนบัตร
REUTERS/Athit Perawongmetha/File Photo

แบงก์ประเมินกรอบเงินบาทขยับอ่อนค่า 30.10-30.50 บาทต่อดอลลาร์ จับตาฟันด์โฟลว์ไหลออกหลังบอนด์ยีลด์ปรับสูงขึ้นเท่าก่อนโควิด-19 พร้อมเกาะติดครม.ชุดใหม่-เสถียรภาพรัฐบาล

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เกตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรอบเงินบาทในสัปดาห์หน้า (1-5 มี.ค.64) อยู่ที่ 30.10-30.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยตลาดรอข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ ดัชนีภาคบริการ และการจ้างงานนอกภาคเกษตร สำหรับเดือนกุมภาพันธ์

ขณะที่ภาพใหญ่นักลงทุนยังให้น้ำหนักไปที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (บอนด์ยีลด์) โดย บอนด์ยิลด์รุ่น 10 ปี กลับขึ้นไปยืนเหนือระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 แม้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงเน้นย้ำว่าเฟดจะไม่รีบถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ตาม แต่บอนด์ยิลด์ยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากการคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่ใช่ทองคำ

ส่วนปัจจัยในประเทศอาจจะติดตามคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ และประเด็นเสถียรภาพของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ปัจจัยดังกล่าวมองว่าส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทน่าจะค่อนข้างจำกัด

“หากบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ พักฐาน หรือนิ่งขึ้น จะส่งผลดีต่อกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้บ้าง คือนักลงทุนต่างชาติอาจชะลอการขายสินทรัพย์สกุลเงินบาท หลังจากในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยไปแล้ว 2.9 หมื่นล้านบาท”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์หน้า ประเมินกรอบเงินบาทอยู่ที่ 29.95-30.45 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจัยที่ต้องติดตามเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ไหลออก แม้ว่าบรรยากาศ (Sentiment) ค่อนข้างนิ่งหลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาคอนเฟิร์มจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ย และยังคงดำเนินมาตรการผ่อรคลายเชิงปริมาณ (QE)

ประกอบกับนักลงทุนปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยว่านักท่องเที่ยวยังไม่ได้ปรับดีขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในไทย และเห็นเงินทุนไหลออก โดยจะเห็นว่าในวันที่ 25 ก.พ.64 มีแรงเทขายหุ้น 7,400 ล้านบาท ถือว่าไหลออกค่อนข้างมากในเพียงวันเดียว ส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าสวนทางกับสกุลเงินในภูมิภาคเอเซียที่แข็งค่าสอดคล้องกับดอลลาร์อ่อนค่า

“สัปดาห์หน้าปัจจัยเรื่องฟันด์โฟลว์ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมามีแรงเทขายในตลาดหุ้นสุทธิ 1 หมื่นล้านบาท ส่วนตลาดบอนด์ก็ไหลออกสุทธิ 1,000 ล้านบาท ส่งผลมีแรงเทขายสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งสัปดาห์หน้าหุ้นยังมีความเสี่ยงไหลออกอีก” นายพูนกล่าว